การติดตามคาร์บอนและความหลากหลายทางชีวภาพในแปลงฟื้นฟูบ้านแม่สา

การติดตามคาร์บอนและความหลากหลายทางชีวภาพในแปลงฟื้นฟูบ้านแม่สา

เพื่อประเมินสุขภาพของป่าฟื้นฟูผ่านการติดตามคาร์บอนและความหลากหลายทางชีวภาพ

Language:

โดย เนย์ ทูน ลิน (เนย์), เฮ็ต ออง ข่าน (สก็อตต์) และ พโย เท็ต ไหน (เจอร์รี่)

โครงการนี้ได้รับการสนับสนุนจาก The Next Forest ภายใต้โครงการ BKIND ทีมนักศึกษาวิจัยได้ศึกษาผลกระทบระยะยาวของการฟื้นฟูป่าต่อปริมาณคาร์บอนที่กักเก็บในดินและต้นไม้ รวมถึงการฟื้นตัวของชุมชนสัตว์ป่า เช่น นกและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ในพื้นที่ป่าฟื้นฟูแม่สาตอนบน อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ เริ่มศึกษาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม - พฤศจิกายน ปี พ.ศ. 2567

ทีมนักวิจัยเก็บข้อมูลจากพื้นที่ศึกษา 4 แห่ง ประกอบด้วย พื้นที่ป่าฟื้นฟู 2 แห่ง ที่มีอายุ 12 ปี และ 24 ปี ป่าธรรมชาติที่มีการรบกวนน้อยที่สุดซึ่งใช้เป็นป่าอ้างอิง และแปลงอะโวคาโดซึ่งเป็นพี้นที่ควบคุม (เป็นพื้นที่ที่มีพืชพรรณเดิมก่อนการฟื้นฟู) จากการศึกษาพบว่า วิธีการฟื้นฟูระบบนิเวศป่าไม้โดยเทคนิคการใช้พรรณไม้โครงสร้าง (Framework Species Method; FSM) มีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ป่าได้รับการฟื้นฟูและมีสุขภาพดี นอกจากนี้พื้นที่ดังกล่าวเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยให้กับสัตว์ป่าหลากหลายชนิด

Bkind teamเจ้าหน้าภาคสนามหน่วยวิจัยการฟื้นฟูป่าและนักศึกษาวิจัยของทีม BKIND ทำงานร่วมกัน

การวัดคาร์บอนในต้นไม้

ในการศึกษาคาร์บอนในป่า เราได้ทำการวัดขนาดต้นไม้และคำนวณปริมาณคาร์บอนในต้นไม้ โดยใช้สมการอัลโลเมตริกที่พัฒนาโดย Pothong และคณะ (2022) สำหรับต้นไม้ในภาคเหนือของประเทศไทย ผลการศึกษาพบว่า หลังจากการฟื้นฟูป่าเป็นเวลา 12 ปี และ 24 ปี ป่าที่ได้รับการฟื้นฟูสามารถกักเก็บคาร์บอนได้เท่ากับ 48% และ 84% ของป่าธรรมชาติตามลำดับ นอกจากนี้ การศึกษายังคาดการณ์ว่าป่าฟื้นฟูจะต้องใช้เวลาประมาณ 34 ปี จึงจะสามารถกักเก็บคาร์บอนได้เทียบเท่ากับป่าธรรมชาติอย่างสมบูรณ์ งานวิจัยด้านคาร์บอนในต้นไม้เช่นนี้มีประโยชน์อย่างมากในแง่ของการกักเก็บคาร์บอนและตลาดคาร์บอนเครดิต เพราะสามารถพิสูจน์ให้เห็นถึงคุณค่าของการฟื้นฟูป่า ไม่เพียงแต่ในฐานะทางออกต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่ยังเป็นโอกาสทางการเงินผ่านตลาดคาร์บอนอีกด้วย

Pyae Shanปิแยร์ ชาน นักศึกษาวิจัย และส้ม เจ้าหน้าที่ภาคสนาม FORRU เก็บข้อมูลต้นไม้ในแปลงป่าฟื้นฟูอายุ 12 ปี

การวัดคาร์บอนในดินSoil samplingเจอร์รีและสก็อต กำลังเตรียมเก็บตัวอย่างดิน โดยแต่ละแปลงศึกษาจำนวน 8 ตัวอย่าง โดยแต่ละจุดมีรัศมี 5 เมตร ตัวอย่างดินถูกเก็บด้วยความลึก 3 ระดับ ได้แก่ 0-5, 5-10, 10-15 เซนติเมตร โดยใช้เครื่องมือเก็บตัวอย่างดินแบบแยกแกน (split-core sampler)

สำหรับคาร์บอนอินทรีย์ในดิน (SOC) เราได้เก็บตัวอย่างดินจากแต่ละแปลงและนำมาวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการโดยใช้วิธี Walkley-Black คาร์บอนในดินเพิ่มขึ้นในแปลงที่ฟื้นฟูอายุ12 ปี โดยมีระดับคาร์บอนในดินเท่ากับ 86% ของระดับป่าธรรมชาติ SOC รวมของแปลงนี้ยังสูงกว่าค่าเฉลี่ยในแปลงควบคุม 28.2% อย่างไรก็ตาม แปลงที่ฟื้นฟูเป็นเวลา 24 ปีมีคาร์บอนในดินต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ ซึ่งอาจเป็นผลมาจากผลกระทบที่ยังคงเหลือจากการเพาะปลูกเกินควรและการเสื่อมสภาพของดิน (อาจเกิดจากดินถล่ม)ในอดีต ผลกระทบจากการใช้ที่ดินในอดีตเหล่านี้อาจยังไม่ถูกชดเชยด้วยการนำคาร์บอนจากต้นไม้ที่อยู่เหนือดินเข้ามา ป่าฟื้นฟูยังคงแสดงให้เห็นถึงศักยภาพที่ดีในการกักเก็บคาร์บอน และผลการศึกษาชี้ให้เห็นถึงประสิทธิภาพของการฟื้นฟูป่า โดยเฉพาะการฟื้นฟูด้วยวิธีพรรณไม้โครงสร้าง ในการเสริมสร้าง SOC และปรับปรุงความอุดมสมบูรณ์ของดิน

นอกจากนี้นกและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเป็นตัวชี้วัดเพื่อประเมินผลของการฟื้นฟูในการฟื้นตัวของระบบนิเวศอีกด้วย

นก

การเก็บข้อมูลเกี่ยวกับนก ทำได้โดยการสำรวจนก ( birdwatching) บันทึกชนิดของนกโดยการสังเกตโดยตรงด้วยกล้องส่องทางไกลหรือจากเสียงของพวกมัน นกจะถูกสังเกตเป็นเวลา 3 ชั่วโมงก่อนพระอาทิตย์ตกและ 3 ชั่วโมงหลังพระอาทิตย์ขึ้น เนื่องจากนกมีความกระฉับกระเฉงมากที่สุดในช่วงเวลานี้ โดยรวมแล้วมีการบันทึกนกจำนวน 140 ชนิดในทุกแหล่งศึกษาที่ทำการวิจัย ป่าฟื้นฟูมีชุมชนของนกที่คล้ายกับป่าธรรมชาติ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพในทิศทางที่ใกล้เคียงกับสภาพอ้างอิง บางชนิดของนก เช่น นกปรอดและนกตีทองเป็นผู้ช่วยกระจายเมล็ดพันธุ์จากต้นไม้ในป่าใกล้เคียงไปยังแปลงฟื้นฟู ช่วยเพิ่มระบบนิดเวศและชนิดพันธุ์ในป่าฟื้นฟูให้ใกล้เคียงกับป่าอ้างอิง

Scottสก็อตกำลังใช้กล่องส่องทางไกลเก็บข้อมูลนกในแปลงพื้นที่ควบคุม นักดูนกมักจะทำงานเป็นคู่ โดยมีผู้มีสังเกต (spotter) จะระบุชนิดของนกที่พบเห็น ขณะที่ผู้บันทึก (recorder) จดบันทึกชนิดของนกและเวลาที่พบ

สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม

Nay camera trapเนย์กำลังติดตั้งกล้องดักถ่ายภาพสัตว์ป่าในป่าอ้างอิง กล้องดักถ่ายภาพสัตว์ป่าถูกติดตั้งรวมกันมากกว่า 700 คืนดักถ่ายภาพ และมีการย้ายตำแหน่งทุกเดือนเพื่อให้ครอบคลุมพื้นที่มากที่สุดเนื่องจากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมส่วนใหญ่ออกหากินเวลากลางคืนและขี้อายมาก การสังเกตโดยตรงจึงแทบจะเป็นไปไม่ได้ ดังนั้น เราจึงใช้กล้องดักถ่ายภาพ (camera traps) เพื่อสำรวจว่ามีสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดใดอาศัยอยู่บ้าง ซึ่งกล้องดักถ่ายภาพนี้ใช้งานสะดวกและเป็นเครื่องมือที่นิยมใช้ในการสำรวจสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม

ผลการสำรวจพบสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็กและขนาดกลางอย่างน้อย 18 ชนิด รวมถึงตัวนิ่มซุนดา ซึ่งเป็นสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ขั้นวิกฤต สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในป่าฟื้นฟูอายุ 12 ปี และ 24 ปี คิดเป็น 43% และ 55% ของระดับในป่าอ้างอิงตามลำดับ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงกระบวนการฟื้นตัวของระบบนิเวศที่ยังคงดำเนินต่อไป ทั้งสองแปลงฟื้นฟูมีจำนวนชนิดสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมมากกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนชนิดที่พบในป่าอ้างอิง

สัตว์ที่ถูกตรวจพบมากที่สุดคือชะมดเช็ด ซึ่งเป็นผู้กระจายเมล็ดพันธุ์ที่มีประสิทธิภาพ จึงมีบทบาทช่วยให้ต้นไม้ป่ามีโอกาสตั้งตัวในพื้นที่โล่ง และช่วยเพิ่มความหลากหลายของชนิดไม้ในแปลงฟื้นฟู

Common palm civetชะมดเช็ด ซึ่งเป็นผู้กระจายเมล็ดพันธุ์ที่ยอดเยี่ยม เป็นสัตว์ที่ถูกตรวจพบมากที่สุด และพบในทุกแหล่งศึกษารวมถึงพื้นที่ควบคุมด้วย

Pangolinตัวนิ่มซุนดาถูกพบในป่าอ้างอิงและป่าฟื้นฟูอายุ 12 ปี ตัวนิ่มเป็นหนึ่งในสัตว์ที่ถูกลักลอบค้าสูงที่สุดในโลก เนื่องจากเกล็ดของมันมีมูลค่าสูงและเป็นที่ต้องการอย่างมาก โดยเฉพาะในทางการแพทย์แผนจีน การพบสัตว์ใกล้สูญพันธุ์เช่นนี้ บ่งชี้ว่าพื้นที่ศึกษามีการคุ้มครองที่ดี และการล่าสัตว์ในพื้นที่ลดลงจากในอดีต

โดยสรุป ผลการวิจัยครั้งนี้แสดงให้เห็นว่าการฟื้นฟูป่าโดยใช้วิธีการพรรณไม้โครงสร้างมีประสิทธิภาพในการกักเก็บคาร์บอนและฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพ

FORRU - การติดตามคาร์บอนและความหลากหลายทางชีวภาพในแปลงฟื้นฟูบ้านแม่สา