ต้นไม้บางชนิดสามารถเจริญเติบโตในพื้นที่เสื่อมโทรมได้โดยเริ่มต้นจากเมล็ด เรียกว่าวิธีการนี้ว่า การหยอดเมล็ด ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับ:-
• การเก็บเมล็ดจากพรรณไม้ท้องถิ่นในพื้นที่ป่าที่เป็นระบบนิเวศเป้าหมาย และมีการเก็บรักษาเมล็ดในกรณีที่จำเป็น จนกว่าจะถึงช่วงเวลาที่จะนำเมล็ดนั้นไปใช้
• การหยอดเมล็ดในพื้นที่ฟื้นฟู ณ ช่วงเวลาที่เหมาะสมในแต่ละปี ซึ่งโดยส่วนใหญ่ คือ ช่วงฤดูฝน เพื่อให้มีการงอกของเมล็ด
• การจัดการกับสภาพพื้นที่ให้เหมาะสมเพื่อเพิ่มการงอกของเมล็ดให้มากที่สุด
ข้อดีของการฟื้นฟูป่าโดยวิธีการหยอดเมล็ด:
• การนำเมล็ดไปหยอดในพื้นที่โดยตรงสามารถลดค่าใช้จ่ายได้ ไม่จำเป็นต้องใช้เรือนเพาะชำและค่าดำเนินการกิจกรรมการปลูก
• การขนส่งเมล็ดไปยังพื้นที่ฟื้นฟูสามารถทำได้ง่ายและราคาถูกกว่าการขนย้ายต้นกล้าเพื่อนำไปปลูก
• ต้นกล้าที่เกิดจากการหยอดเมล็ดมีการพัฒนาระบบรากและเติบโตได้ไวกว่าต้นกล้าที่ผลิตจากเรือนเพาะชำ ซึ่งได้ถูกจำกัดระบบรากในช่วงที่ดูแลในเรือนเพาะชำ
• สามารถนำมาใช้ร่วมกับการฟื้นฟูเพื่อเร่งการฟื้นตัวตามธรรมชาติและใช้ร่วมกับการฟื้นฟูป่าโดยวิธีการปลูก ซึ่งการหยอดเมล็ดสามารถนำมาใช้เพื่อเพิ่มความหนาแน่นและความหลากชนิดของต้นกล้าในพื้นที่
นอกจากการนำเทคนิคการหยอดเมล็ดมาใช้กับพรรณไม้โครงสร้างแล้ว การหยอดเมล็ดยังสามารถใช้กับวิธีการปลูกแบบความหลากหลายสูงสุด (maximum diversity method) หรือการปลูกไม้พี่เลี้ยงในพื้นที่อย่างไรก็ตาม การหยอดเมล็ดอาจไม่ได้เหมาะสมกับพันธุ์ไม้ทุกชนิด
อุปสรรคที่อาจเกิดขึ้นสำหรับการหยอดเมล็ด
เมล็ดที่กระจายออกจากต้นแม่ไม้ในธรรมชาติโดยส่วนใหญ่มีเปอร์เซ็นต์การงอกที่ต่ำมากและในจำนวนนั้น ก็มีเพียงต้นกล้าบางต้นเท่านั้นที่รอดตาย แล้วเติบโตไปเป็นต้นไม้ใหญ่ได้ ปัจจัยที่มีผลต่อเมล็ดที่ถูกหยอดกับต้นกล้าที่งอกจากเมล็ด ได้แก่:
1. การถูกผึ่งแห้งหรือการถูกความร้อนและลมทำให้แห้งจนไม่สามารถงอกได้
2. การล่าเมล็ดหรือการที่เมล็ดถูกทำลายให้เสียหายโดยสัตว์ที่กินเมล็ด โดยเฉพาะอย่างยิ่งโดยมดและหนู
3. การแข่งขันกับวัชพืชในพื้นที่ฟื้นฟู
การฝังเมล็ดสามารถช่วยลดโอกาสการล่าเมล็ดได้ โดยเป็นการทำให้สัตว์หาเมล็ดได้ยากขึ้น นอกจากนี้กระบวนการจัดการกับเมล็ดก่อนการหยอดเพื่อเร่งการงอก เป็นอีกวิธีที่ทำให้เวลาเสี่ยงต่อการถูกพบเจอโดยสัตว์ผู้ล่าเมล็ดลดลง เมื่อเมล็ดเริ่มกระบวนการงอก อาหารสะสมในเมล็ดจะถูกนำไปใช้จนเหลือน้อยลง ทำให้เมล็ดนั้นมีความดึงดูดสัตว์ผู้ล่าเมล็ดลดลงด้วย แต่การที่เปลือกหุ้มเมล็ดถูกทำให้เป็นรูหรือแตกเพื่อให้ต้นอ่อนสัมผัสกับสิ่งแวดล้อมภายนอกนั้นจะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงของการถูกผึ่งแห้งและทำให้เมล็ดมีความดึงดูดต่อมดมากขึ้นด้วย การศึกษาทดลองถึงความเป็นไปได้ของการใช้สารเคมีต่างๆ เพื่อป้องกันหรือขับไล่ผู้ล่าเมล็ดนับเป็นอีกด้านหนึ่งที่มีความสำคัญ
การให้ความสำคัญกับกลุ่มสัตว์ที่เป็นผู้ล่าหรือกินหนู (เช่น นกผู้ล่า หรือแมวป่า) ในพื้นที่ที่เร่งการฟื้นตัว โดยการป้องกันการล่าสัตว์ในกลุ่มดังกล่าว เพื่อให้สัตว์เหล่านั้นช่วยควบคุมจำนวนประชากรของหนูซึ่งเป็นตัวกินเมล็ดและลดการทำลายเมล็ดที่หยอดเพื่อการฟื้นฟูหรือเมล็ดในธรรมชาติที่จะงอกและเติบโตเป็นต้นไม้รุ่นใหม่ต่อไป
ต้นกล้าที่งอกจากเมล็ดมีขนาดที่เล็กมากเมื่อเทียบกับต้นกล้าที่ปลูก ซึ่งได้รับการดูแลในเรือนเพาะชำ ดังนั้น การกำจัดวัชพืชรอบๆ ต้นกล้าเป็นสิ่งที่สำคัญ ซึ่งอาจต้องได้รับการดูแลมากเป็นพิเศษ การกำจัดวัชพืชอย่างพิถีพิถันเช่นนี้ เป็นการเพิ่มต้นทุนในการฟื้นฟูป่าโดยวิธีการหยอดเมล็ดอย่างมาก
คำแนะนำสำหรับการฟื้นฟูป่าโดยวิธีการหยอดเมล็ดเพิ่มเติมได้ที่ "ปลูกให้เป็นป่า"“ปลูกให้เป็นป่า” หน้า 58 ถึง 62
หรือเนื้อหาอื่นๆของเทคนิคนี้ สามารถอ่านได้จาก "Restoring Tropical Forests: a practical guide" หน้าที่ 130.