ข้อมูลของต้นไม้ชนิดนี้เผยแพร่ครั้งแรกใน Samara ฉบับที่ 40, 2024 (จดหมายข่าวของ Millennium Seed Bank Partnership (MSBP))
เด็กนักเรียนที่มาเยี่ยมชมเรือนเพาะชำกล้าไม้ชุมชนบ้านแม่สาใหม่ ภาคเหนือของประเทศไทย พูดคุยกันอย่างตื่นเต้นขณะที่พวกเขาปลูกต้นกล้าอย่างระมัดระวัง พวกเขาใช้ไม้ค่อยๆ งัดต้นกล้าเล็กๆ ออกจากถาดเพาะอย่างระมัดระวัง แล้วย้ายต้นกล้าเหล่านั้นลงในถุงพลาสติกสีดำขนาดความสูง 9 นิ้ว เมื่อสิ้นสุดกิจกรรม ถุงพลาสติกที่บรรจุต้นกล้าซึ่งเป็นอนาคตของป่า จะถูกวางเรียงรายไว้เพื่อรอการรดน้ำต้นไม้ ... และเมื่อถึงเวลารับประทานอาหารกลางวัน ก่อนอื่น เด็กๆ ต้องล้างมือเสียก่อน โดยที่จุดล้างมือของเรือนเพาะชำ มีเรื่องที่ทำให้เด็กๆแปลกใจรเกิดขึ้น แทนที่จะใช้สบู่ พวกเขากลับพบเปลือกผลไม้ป่าสีน้ำตาล เหี่ยวๆ และมีลักษณะคล้ายหนัง ซึ่งมีขนาดประมาณผลเชอร์รีวางอยู่
เด็กๆ ได้รับคำสั่งให้ลองขะยี้เปลือกผลไม้นั้นในน้ำและถูมือ เด็กๆ ต่างรู้สึกตื่นเต้นเมื่อเห็นว่ามือของพวกเขาเต็มไปด้วยฟองสบู่ที่ลื่นไหลเมื่อเปลือกผลไม้นั้นค่อยๆ อ่อนตัวลงในน้ำ เมื่อมือสะอาดเอี่ยมแล้ว พวกเขาก็พร้อมที่จะรับประทานอาหารกลางวันได้แล้ว ด้วยเหตุนี้ เด็กๆ จึงได้ค้นพบความมหัศจรรย์ของต้นสบู่จากธรรมชาตินี้
ผลไม้ที่เด็กๆ ใช้ล้างมือ คือ มะซัก หรือมะคำดีควาย หรือที่เรียกกันทั่วไปว่าต้นสบู่ ต้นไม้ชนิดนี้พบกระจายอยู่ทั่วประเทศไทย เป็นไม้ผลัดใบระยะสั้นที่เจริญเติบโตได้ดีในระบบนิเวศป่าดิบบนที่สูง เมื่อกว่า 20 ปีที่แล้ว การวิจัยของหน่วยวิจัยการฟื้นฟูป่า ได้ระบุว่ามะซักเป็นพรรณไม้โครงสร้างที่เหมาะสมอย่างมากในการฟื้นฟูระบบนิเวศป่าดิบบนที่สูง ต้นกล้าของมะซักมีอัตราการรอดตายและเติบโตได้ดี เมื่อปลูกในพื้นที่ที่ป่าถูกทำลาย ต้นกล้าสามารถงอกใหม่ได้แม้จะถูกไฟป่าเผาไหม้ ทำให้ต้นไม้ชนิดนี้เป็นตัวเลือกที่ดีเยี่ยมสำหรับโครงการฟื้นฟูป่า โดยเฉพาะในพื้นที่ที่เสี่ยงต่อการเกิดไฟไหม้
เมื่อไม่นานมานี้ หน่วยวิจัยการฟื้นฟูป่าร่วมกับสวนพฤกษศาสตร์หลวงเมืองคิว ได้ทำการศึกษาร่วมกัน และพบว่ามะซัก เป็นตัวเลือกหลักสำหรับการศึกษาเกี่ยวกับพันธุกรรมประชากรและความทนทานต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศเมื่ออุณหภูมิโลกมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้น ภายใต้โครงการธนาคารเมล็ดโลก เนื่องจากมะซักเป็นชนิดที่สามารถพบกระจายได้ทั่วไป และมีการงอกของเมล็ดที่สูงและสามารถงอกได้อย่างรวดเร็ว หน่วยวิจัยการฟื้นฟูป่าได้ทำการทดสอบการงอกหลายครั้ง พบว่าเมล็ดสามารถงอกได้สูงกว่า 80% ภายใต้สภาวะที่ได้รับแสงเต็มที่ โดยที่ไม่ต้องมีการจัดการใดๆกับเมล็ดก่อนการเพาะ นอกจากนี้ยังมีระยะเวลาพักตัวเฉลี่ยโดยประมาณเพียง 50 วัน
คุณสมบัติในการทำให้เกิดฟองของผลมาจากสารซาโปนิน ซึ่งเป็นกลุ่มสารเคมีธรรมชาติที่มักผลิตโดยต้นไม้ในวงศ์เงาะ (Sapindaceae) ซึ่งส่วนใหญ่มีไว้เพื่อป้องกันศัตรูที่อาจทำลายเมล็ด แต่สารเคมีชนิดเดียวกันนี้ได้จุดประกายให้เกิดอุตสาหกรรมท้องถิ่นทั่วประเทศไทย ซึ่งกำลังแปรรูปผลไม้ที่มีฟองให้เป็นแชมพูออร์แกนิก เครื่องสำอาง ผงซักฟอก และน้ำยาทำความสะอาดในครัวเรือน สหกรณ์สตรีหลายแห่งประสบความสำเร็จในการจัดตั้งกลุ่มโดยการผลิตผลิตภัณฑ์ดังกล่าว และยังทำการตลาดในซูเปอร์มาร์เก็ตและออนไลน์อีกด้วย ดังนั้นมะซัก จึงเป็นวัตถุดิบที่ส่งเสริมกลุ่มสตรีทั่วประเทศไทยอย่างเงียบๆ ทั้งในด้านสังคมและเศรษฐกิจ ตลอดจนส่งเสริมการจัดการป่าไม้ที่ยั่งยืน เพื่อให้มีอุปทานของผลไม้อันทรงคุณค่าเหล่านี้
การสะสมของความรู้ทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับชนิดพันธุ์ที่มีประโยชน์นี้อาจช่วยส่งเสริมผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคมของพืชเหล่านั้นได้ โดยการรักษาความหลากหลายทางพันธุกรรมของชนิดพันธุ์ นำไปสู่ความทนทานต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศได้ ซึ่งจะทำให้ชนิดเหล่านี้เข้าไปมีส่วนร่วมในโครงการฟื้นฟูมากขึ้น อีกทั้งยังมีส่วนสนับสนุนต่อเศรษฐกิจในชุมชนและศักยภาพของผู้หญิงในพื้นที่ชนบทของประเทศไทยอีกด้วย