“เรือนเพาะชำเป็นจุดเริ่มต้นของการผลิตกล้าไม้คุณภาพสูง ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญสำหรับความสำเร็จของทุกโครงการฟื้นฟูป่าไม้”
ด้วยความร่วมมือกับมูลนิธิสถาบันราชพฤกษ์ ซึ่งให้การสนับสนุนทางการเงินแก่หน่วยวิจัยการฟื้นฟูป่าและชาวบ้านจากชุมชนบ้านแม่สา ช่วยดูแลและพัฒนาเรือนเพาะชำและศูนย์การเรียนรู้ชุมชน โดยวัตถุประสงค์หลักที่จัดตั้งเรือนเพาะชำ คือการผลิตกล้าไม้ท้องถิ่น การเผยแพร่ความรู้ และการวิจัย ซึ่งในแต่ละปีจะมีการผลิตกล้าไม้มากกว่า 18,000 กล้า เพื่อที่จะนำไปปลูกในที่ต่างๆในบริเวณภาคเหนือโดยกล้าไม้ทั้งหมดได้รับการดูแลจากเจ้าหน้าที่เรือนเพาะชำ (พี่โชติกุล กับ พี่ไพโรจน์) ที่มาจากชุมชนบ้านแม่สา
เรือนเพาะชำและศูนย์การเรียนรู้ชุมชนได้รับความสนใจเป็นอย่างมากจากกลุ่มคนที่สนใจในการฟื้นฟูป่า เช่น หน่วยงานต่างชาติที่ต้องการเรียนรู้เกี่ยวกับกระบวนการฟื้นฟูป่า โรงเรียนนานาชาติและไทย ชุมชน และนักเรียนที่มาแลกเปลี่ยนจากต่างประเทศ โดยเจ้าหน้าที่หน่วยวิจัยการฟื้นฟูป่าจะให้ทั้งความรู้ภาคทฤษฎีไปจนถึงลงมือปฏิบัติจริงในเรือนเพาะชำ เช่น การทำความสะอาดเมล็ด การทำแผลเมล็ด การเพาะเมล็ด การย้ายกล้า การดูแลกล้า
นอกจากนี้เรือนเพาะชำทีได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิสถาบันราชพฤกษ์ ไม่เพียงแต่ผลิตกล้าไม้เท่านั้น ทางหน่วยวิจัยการฟื้นฟูป่ายังได้ทำการวิจัยเพื่อให้ได้กล้าที่มีคุณภาพมากที่สุด เช่น การทดสอบการงอกของเมล็ด และการทดลองการเจริญเติบโตของกล้าไม้ ซึ่งงานวิจัยที่ยังดำเนินอยู่คือการเติมชีวภาพคาร์บอน (biochar) ลงในวัสดุปลูก เพื่อเปรียบเทียบกับวัสดุพื้นฐานที่ส่งผลต่อการเจริญเติบโตของต้นกล้า ผลการทดลองที่ได้จะนำไปประยุกต์ใช้ต่อไปเมื่อสิ้นสุดการทดลอง
มูลนิธิสถาบันราชพฤกษ์ และหน่วยวิจัยการฟื้นฟูป่าหวังว่า ศูนย์เพาะชำและศูนย์การเรียนรู้ชุมชนแห่งนี้จะให้ประโยชน์ และช่วยให้ทุกคนเกิดความตระหนักรู้และห่วยใยสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
กิจกรรมต่างๆ ที่ดำเนินในเรือนเพาะชำชุมชนแม่สาใหม่ เพื่อการผลิตกล้าที่มีคุณภาพเพื่อใช้ในการฟื้นฟูป่า