โครงการฟื้นฟูป่าจังหวัดน่าน โดยหน่วยวิจัยการฟื้นฟูป่า ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ภายใต้โครงการวิจัยของผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เดีย พนิตนาถ แชนนอน ซึ้งได้รับทุนสนับสนุนการทำวิจัย 3 โครงการ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2560ได้แก่
1)โครงการวิจัยจากเขาหัวโล้นสู่ป่าฟื้นตัว: การเปรียบเทียบรูปแบบการปลูกระดับภูมิทัศน์สำหรับการฟื้นฟูป่าในจังหวัดน่าน (From a bare mountain to a regenerated forest: comparing landscape planting design for forest restoration in Nan province) ได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.) ในปี 2560 ถึง 2563
2)โครงการการฟื้นฟูภูมิทัศน์ป่าไม้กับความเป็นอยู่ที่ดีของชุมชน (Forest landscape restoration and community well-being) ได้รับทุนสนับสนุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่(บพท.) ในปี 2563 ถึง 2564
3)โครงการการประเมินการเปลี่ยนแปลงและการบริการเชิงระบบนิเวศของป่าฟื้นฟูจังหวัดน่าน (Evaluating changes and ecosystem services of Nan restored forests) ได้รับทุนสนับสนุนจากสวทช.ในปี 2564 ถึง 2565
โดยมีพื้นที่ศึกษาวิจัยใน 3 อำเภอ ได้แก่ ปัว ภูเพียง และเวียงสา อำเภอละ 3 แปลงรวมทั้งหมด 9 แปลง ในการฟื้นฟูจะเน้นการใช้ชนิดพรรณไม้ท้องถิ่นของจังหวัดน่านตามหลักการฟื้นฟูโดยวิธีพรรณไม้โครงสร้าง (Framework Species Method) ในช่วงต้นของการเริ่มโครงการ จึงได้มีการสำรวจผืนป่าธรรมชาติซึ้งใช้เป็นป่าอ้างอิงสำหรับพื้นที่ศึกษาวิจัยทั้ง 3อำเภอ ได้แก่ ป่าต้นน้ำน้ำแก่น-น้ำสา (ป่าอ้างอิงพื้นที่อำเภอภูเพียง) อยู่ภายใต้การดูแลของกรมป่าไม้และมีผืนป่าชุมชนอีก 2 แห่ง ได้แก่ป่าชุมชนม่อนหินแก้ว (ป่าอ้างอิงพื้นที่อำเภอปัว) และป่าชุมชนบ้านม่วงเนิ้ง (ป่าอ้างอิงพื้นที่อำเภอเวียงสา)
โดยได้มีการสำรวจความหลากหลายของชนิดพรรณไม้ท้องถิ่นรวมถึงความหนาแน่นของต้นไม้ในป่าแต่ละแห่ง สำรวจความหลากชนิดของนกเก็บข้อมูลชีพลักษณ์ของพรรณไม้ท้องถิ่นในป่าทั้ง 3 แห่ง ต่อเนื่องถึง 3 ปี อีกทั้งยังมีการถ่ายทอดองค์ความรู้และกระบวนการฟื้นฟูป่าโดยวิธีพรรณไม้โครงสร้างให้กับคนในชุมชน ภายหลังจากการฟื้นฟูโดยใช้ชนิดพรรณไม้ท้องถิ่นที่มีความหลากหลายและได้รับการคัดเลือกชนิดพันธุ์ให้มีความเหมาะสมกับพื้นที่แต่ละอำเภอแล้ว ได้มีการดูแลรักษาพื้นที่ฟื้นฟูอย่างต่อเนื่อง มีการกำจัดวัชพืช ใส่ปุ๋ยให้กับกล้าไม้และทำแนวกันไฟ รวมถึงมีการติดตามผลความสำเร็จหลังการฟื้นฟูวิเคราะห์ประสิทธิภาพของพันธุ์ไม้แต่ละชนิดจากอัตราการรอดชีวิตและการเจริญเติบโตหลังปลูก มีการวัดความหลากหลายของชุมชีพจุลินทรีย์ในดินที่สำคัญ คือมีการประเมินบริการจากระบบนิเวศของป่าฟื้นฟูหลากหลายด้าน อาทิการควบคุมสภาพภูมิอากาศ ผลผลิตจากป่าที่ชุมชนได้ใช้ประโยชน์ รวมถึงการประเมินคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนที่อยู่โดยรอบพื้นที่ฟื้นฟู ปัจจุบันชาวบ้านซึ่งเป็นสมาชิกโครงการยังคงช่วยกันดูแลผืนป่าฟื้นฟูให้เติบโตเป็นป่าที่มีความสมบูรณ์ต่อไป
ร่วมมือกับ : The Next Forest