โครงการฟื้นฟูป่าร่วมกับกลุ่มนักวิ่งโป่งแยงเทรล และศูนย์ศึกษาธรรมชาติดอยสุเทพฯ โดยเปิดรับอาสาสมัครเข้าร่วมกิจกรรมในแต่ละขั้นตอนการฟื้นฟู สำหรับหลักการฟื้นฟูในครั้งนี้ใช้วิธีพรรณไม้โครงสร้างฟื้นฟูพื้นที่ป่าดิบเขาตามแนวคิดพื้นฐานและการออกแบบการทดลองของหน่วยวิจัยฟื้นฟูป่า (FORRU-CMU)
โครงการริเริ่มในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี พ.ศ. 2564 ผ่านการพูดคุยกับภาคส่วนที่มีความเกี่ยวข้อง และเริ่มกระบวนการลงสำรวจประเมินพื้นที่แบบสังเขป เพื่อทราบศักยภาพเชิงพื้นที่ต่อการฟื้นฟูที่มีอยู่เดิมและอุปสรรคขัดขวางการฟื้นฟู หลังจากประเมินศักยภาพในเบื้องต้นนำไปสู่การคำนวณงบประมาณที่ใช้สำหรับโครงการฟื้นฟู การระดมทุนในการดูแลตลอดโครงการตั้งแต่กิจกรรมเรือนเพาะชำ การเตรียมกล้าไม้ การเตรียมพื้นที่ปลูก งานปลูกจริง การออกแบบการทดลองทางวิทยาศาสตร์ สำหรับชี้วัดความสำเร็จของโครงการฟื้นฟู ฯลฯ ซึ่งพื้นที่เป้าหมายของการฟื้นฟูครั้งนี้ คือ พื้นที่ 4 ไร่ บริเวณบ้านโป่งแยงใน ตำบลโป่งแยง อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่
สำหรับพื้นที่ฟื้นฟูได้รับความอนุเคราะห์จากอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย โดยพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ทำการเกษตรของชาวบ้านมาก่อน ภายหลังผ่านกระบวนการขอคืนพื้นที่และถูกปล่อยให้ฟื้นตัวตามธรรมชาติมากว่า 10 ปี แต่อัตราการฟื้นตัวกลายเป็นป่าตามธรรมชาติยังค่อนข้างต่ำ โดยการเตรียมพื้นที่ก่อนได้รับความช่วยเหลือจากชาวบ้านโป่งแยงใน และเจ้าหน้าที่ของหน่วยวิจัยฟื้นฟูป่า โดยกิจกรรมเตรียมแปลงฟื้นฟูก่อนปลูก และจัดกิจกรรมปลูกกล้าไม้จำนวนทั้งหมด 1,350 ต้น ในวันที่ 13-14 สิงหาคม พ.ศ. 2564 นอกจากนั้นได้มีการติดตามผลการการรอดของต้นกล้าหลังจากปลูก 2 สัปดาห์ และได้ดำเนินการดูแลด้วยการตัดหญ้าและใส่ปุ๋ยอีก 3 ครั้ง ในระหว่างฤดูฝน เป็นระยะเวลา 2 ปี
ชนิดของต้นไม้ที่ปลูกเพื่อฟื้นฟูในโครงการนี้สามารถแบ่งย่อยออกเป็น 20 ชนิด โดยจำนวนดังกล่าวแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ เป็นพรรณไม้เบิกนำ 10 ชนิด และพรรณไม้เสถียรอีก 10 ชนิด ซึ่งในโครงการฟื้นฟูครั้งนี้ยังได้ทำการทดลองกับต้นกล้าบางชนิด เปรียบเทียบระหว่างต้นไม้ที่ใช้ไบโอชาร์รองก้นหลุมปลูกและไม่ได้ใช้ โดยตัวอย่างชนิดต้นไม้ที่ทำการทดลอง อาทิ เลี่ยน หมอนหิน มะกัก นางพญาเสือโคร่ง ทังใบช่อ และฝาละมี เป็นต้น และตัวอย่างชนิดต้นไม้ที่ไม่ได้ทำการทดลอง อาทิ สลีนก สะเดาช้าง คำแสด ก่อตาหมูหลวง หมากขี้อ้าย และอบเชย เป็นต้น
สำหรับวิดีโองานปลูกป่าสามารถรับชมได้ที่ "กิจกรรมปลูกป่า"
การดำเนินการต่อในปีต่อมากับการฟื้นฟูป่า โดยมีหน่วยวิจัยฯเป็นที่ปรึกษา