ความหลากหลายพรรณไม้พื้นล่างในพื้นที่ฟื้นฟูเหมืองหินปูน บริษัทปูนซีเมนต์ (ลำปาง) จำกัด
Laohasom, P. (2019). Diversity of Ground Flora in the Restoration Area of The Siam Cement (Lampang) Co., Ltd Limestone Quarry' BSc Special Project, Chiang Mai University.
Contributors
ศึกษาสังคมพรรณไม้พื้นล่างในพื้นที่ฟื้นฟูหลังทำเหมืองหินปูนด้วยวิธีพรรณไม้โครงสร้างในพื้นที่บริษัทปูนซีเมนต์ไทย (ลำปาง) จำกัด พืชพื้นล่างสามารถบ่งชี้ความสมบูรณ์ของพื้นที่ได้เช่นเดียวกับไม้ยืนต้น โดยการศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบความหลากหลายของพืชพื้นล่างระหว่างแปลงฟื้นฟูที่มีการเตรียมพื้นที่ด้วยวิธีถมดิน วิธีระเบิดหินและป่าธรรมชาติ และติดตามความก้าวหน้าในการฟื้นฟู โดยวางแปลงรูปวงกลมรัศมี 5 เมตร จำนวน 5 วง ในแต่ละพื้นที่ บันทึกชนิดของพืชพื้นล่างที่พบ ประเมินการปกคลุมพื้นที่ เก็บข้อมูลกายภาพและโครงสร้างป่า เก็บข้อมูลสองครั้งในเดือนธันวาคม 2561 และกุมภาพันธ์ 2562 พบพืชพื้นล่างทั้งสิ้น 26 วงศ์ 52 ชนิด แปลงธรรมชาติพบจำนวน 27 ชนิด รองลงมาคือแปลงฟื้นฟูถมดินและแปลงฟื้นฟูระเบิดหิน 22 และ 12 ชนิดตามลำดับ พบว่าป่าธรรมชาติมีค่าความหลากหลายมากที่สุด รองลงมาเป็นแปลงฟื้นฟูที่ทำการถมดินและระเบิดหินตามลำดับ คือ 2.90, 2.57 และ 1.99 ในแปลงฟื้นฟูระเบิดหินพืชพื้นล่างที่พบมากคือ หญ้าขจรจบ (Pennisetum pedicellatum) ซึ่งเป็นพืชที่พบในขั้นบุกเบิกของการเปลี่ยนแปลงแทนที่ ในแปลงฟื้นฟูถมดินจะพบ สาบเสือ (Chromolaena odorata) และ เสี้ยวดอกแดง (Buahinia purpurea) ส่วนในพื้นที่ป่าธรรมชาติจะพบเป็นกล้าไม้ของไม้ต้นเป็นส่วนใหญ่ เช่น กะตังใบ (Leea indica) แสดงให้เห็นว่าการเตรียมพื้นที่โดยการถมดินทำให้ฟื้นตัวของระบบนิเวศเกิดได้เร็วกว่าการระเบิดหิน