ผลของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อชีพลักษณ์ของพรรณไม้สำหรับการฟื้นฟูป่าในภาคเหนือของประเทศไทย
Damminset, P. 2023. The Effects of Climate Change on Tree Phenology for Forest Restoration in Northern Thailand. BSc special project, Chiangmai University
บทคัดย่อ: สภาพภูมิอากาศของโลกในปัจจุบันกำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วและส่งผลกระทบต่อปัจจัยแวดล้อมทั้งทางกายภาพและชีวภาพ ปัจจัยทางกายภาพบางประการมีอิทธิพลต่อระบบนิเวศป่าเขตร้อน ซึ่งพืชดอกตอบสนองด้านชีพลักษณ์ต่อปัจจัยดังกล่าวแตกต่างกันทั้งด้านการเปลี่ยนแปลงระยะของใบ การออกดอก และการติดผล ปัญหาพิเศษนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ของการเปลี่ยนแปลงปัจจัยทางกายภาพ เช่น ปริมาณน้ำฝน อุณหภูมิอากาศ และความชื้นสัมพัทธ์ในช่วงปี พ.ศ. 2537-2541 และ 2558-2562 ต่อชีพลักษณ์ของพรรณไม้ 13 ชนิด รวม 60 ต้น ตามเส้นทางศึกษาธรรมชาติดอยสุเทพ อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย จังหวัดเชียงใหม่ โดยบันทึกข้อมูลทางชีพลักษณ์ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2562 ถึง กุมภาพันธ์ 2563 ด้วยวิธี crown density จากการศึกษาพบว่า อุณหภูมิอากาศมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญระหว่าง 2 ช่วงเวลาข้างต้นจากการวิเคราะห์ทางสถิติด้วย t-test (p = 0.05) พบว่า ตาเสือ (Aphanamixis polystachya) และก่อเดือย (Castanopsis acuminatissima) มีระยะการออกดอกยาวนานขึ้น ไทรย้อยใบทู่ (Ficus microcarpa) และกำยาน (Styrax benzoides) มีระยะการออกดอกเร็วขึ้น โดยชีพลักษณ์ของพรรณไม้จะได้รับอิทธิพลจากอุณหภูมิอากาศ ความชื้นสัมพัทธ์ และปริมาณน้ำฝนตามลำดับ ข้อมูลนี้สามารถนำไปใช้ในการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่ารวมถึงเป็นข้อมูลในการสนับสนุนงานวิจัยอื่น ๆ ทีเกี่ยวข้อง ทั้งนี้ผู้วิจัยเสนอแนะให้สำรวจชีพลักษณ์ของพรรณไม้ทั้งหมดที่ศึกษาอีกอย่างต่อเนื่องเพื่อศึกษาแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงชีพลักษณ์ในอนาคต