ห้องสมุด

การใช้คุณลักษณะการทำหน้าที่เพื่อจำแนกกลุ่มพืชในกระบวนการเปลี่ยนแปลงแทนที่ของไม้ยืนต้นในการฟื้นฟูป่า

Date
23 May 2023
Authors
Manohan, B., D.P. Shannon, P. Tiansawat, S. Chairuangsri, J. Jainuan & S. Elliott
Publisher
Forests
Serial Number
272
Suggested Citation
Manohan, B., D.P. Shannon, P. Tiansawat, S. Chairuangsri, J. Jainuan & S. Elliott. 2023. Use of functional traits to distinguish successional guilds of tree species for restoring forest ecosystems. Forests , 14(1075). https://doi.org/10.3390/f14061075
Ben's paper

บทคัดย่อ: 

การฟื้นฟูระบบนิเวศป่ามีความสอดคล้องกับชนิดต้นไม้ที่เติบโตในแต่ละระยะของการเปลี่ยนแปลงแทนที่ในป่าธรรมชาติ ดังนั้นการเลือกชนิดไม้ตามระดับของกลุ่มพืชในแต่ละระยะของกระบวนการเปลี่ยนแปลงแทนที่จึงมีความเหมาะสมกว่าการจำแนกชนิดไม้เพียงแค่พรรณไม้เบิกนำ หรือ พรรณไม้เสถียร การศึกษานี้จึงมีจุดหมายเพื่อจำแนกกลุ่มต้นไม้ที่เป็นกลุ่มเด่นของแต่ละระยะการเปลี่ยนแปลงแทนที่โดยใช้คุณลักษณะที่มีความเฉพาะต่อรูปแบบการเจริญเติบโตของพรรณไม้โครงสร้างที่ใช้ในการฟื้นฟูป่า การศึกษานี้ได้รวบรวม 27 คุณลักษณะที่เกี่ยวกับการทำหน้าที่ของต้นไม้ 28 ชนิด ซึ่งเก็บข้อมูลจากภาคสนามประกอบกับการสืบค้นจากฐานข้อมูลของหน่วยวิจัยการฟื้นฟูป่า และฐานข้อมูลออนไลน์ คุณลักษณะที่มีค่าโน้มเอียงไปในทิศทางเดียวกันจะถูกคัดเลือกตัวแทนเหลือ 1 คุณลักษณะ พบว่าคงเหลือ 13 คุณลักษณะที่ไม่มีความสัมพันธ์ต่อกันและสามารถเป็นตัวแทนของคุณลักษณะทั้งหมด การศึกษานี้ใช้ 2 วิธีในการแบ่งกลุ่ม วิธีแรกคือ Hierarchical cluster analysis ซึ่งทำการจัดกลุ่ม ได้ 6 กลุ่ม วิธีที่ 2 คือ การจัดอับดับคะแนนของทั้ง 13 คุณลักษณะ โดยแต่ละคุณลักษณะใดที่มีลักษณะตรงกับกลุ่มพรรณไม้เบิกนำจะได้รับคะแนนในช่วงลบ (-2 ถึง 0) และคุณลักษณะการทำหน้าที่ใดที่มีลักษณะตรงกับกลุ่มพรรณไม้เสถียรจะได้รับคะแนนในช่วงบวก (0 ถึง +2) ดังนั้นกลุ่มของต้นไม้แต่ละชนิดจะแสดงในรูปแบบของคะแนนรวมของทั้ง 13 คุณลักษณะ นั่นคือยิ่งผลรวมมีค่าเป็นลบมากเท่าไหร่แสดงถึงความเข้มข้นของคุณลักษณะการทำหน้าที่ของพรรณไม้เบิกนำมากเท่านั้นและยิ่งผลรวมมีค่าเป็นบวกมากเท่าไหร่ก็แสดงถึงความเข้มข้นของคุณลักษณะการทำหน้าที่ของพรรณไม้เสถียรมากเท่านั้น ซึ่งวิธีนี้พบว่ามีต้นไม้ 13 ชนิดที่ได้คะแนนเป็นลบ และมี 15 ชนิดที่ ได้คะแนนเป็นบวก โดยสามารถจัดอับดับคะแนนนี้ได้ทั้งหมด 7 กลุ่ม ซึ่งการใช้คุณลักษณะการทำหน้าที่เพื่อแบ่งกลุ่มทั้งสองวิธีนี้ได้แบ่งกลุ่มต้นไม้เป็นไปในทิศทางเดียวกันและมีความสอดคล้องกันสูง ดังนั้นจึงสรุปได้ว่าคุณลักษณะการทำหน้าที่เป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการแบ่งกลุ่มต้นไม้ ซึ่งกลุ่มดังกล่าวสามารถนำไปคัดเลือกพรรณไม้เพื่อการฟื้นฟูป่าได้ อย่างไรก็ตามหากนำไปใช้ในวงกว้างขึ้น จำเป็นต้องศึกษาคุณลักษณะการทำหน้าที่ของพรรณไม้ชนิดอื่นเพิ่มขึ้นด้วย

Related Advice

การเลือกชนิดพรรณไม้เพื่อการฟื้นฟูป่า

ข้อแนะนำสำหรับการเลือกชนิดพรรณไม้ท้องถิ่นที่เหมาะสมกับพื้นที่เพื่อการฟื้นฟูป่า