ผลของปุ๋ยต่อการเจริญเติบโตและการสะสมมวลชีวภาพของต้นไม้ไม่ผลัดใบ 3 ชนิดจากป่าเขตร้อน
Shannon, D.P., P. Tiansawat, S. Dasoon, S. Elliott & W. Pheera, 2023. Effects of fertilizer on growth and biomass allocation of three evergreen tree species from seasonally dry tropical forests. Trends in Sciences, 20(8), 6416. https://doi.org/10.48048/tis.2023.6416
Contributors
บทคัดย่อ: การปลูกต้นไม้โดยการใช้พันธุ์ไม้พื้นเมืองเป็นหลักเป็นวิธีการที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางว่าสามารถช่วยเยียวยาปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ มีปุ๋ยหลายชนิดที่ถูกแนะนำให้ใช้ในการผลิตกล้าเพื่อให้ได้คุณภาพที่เหมาะสมสำหรับการฟื้นฟูป่า ดังนั้น ในการศึกษานี้จึงได้ทำการทดสอบสมมติฐานที่ว่าการใส่ปุ๋ยสามารถเพิ่มการเจริญเติบโตและเปลี่ยนแปลงการสะสมของมวลชีวภาพของต้นกล้าไม้ชนิดที่ไม่ผลัดใบได้ โดยทำการศึกษาในต้นไม้ 3 ชนิด ได้แก่ Aphanamixis polystachya (ชนิดที่โตช้า) Eriobotrya bengalensis (ชนิดที่โตไว) และ Podocarpus neriifolius (ชนิดที่โตช้า) พรรณไม้เหล่านี้ล้วนแต่เป็นชนิดที่ใช้สำหรับการฟื้นฟูป่าในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทย โดยทำการทดลองเติมปุ๋ยด้วยปริมาณที่แตกต่างกัน 4 ชุด (0, 150, 300 และ 600 มก. ต่อต้น) แล้วทำการวัดอัตราการเจริญเติบโตสัมพัทธ์ และมวลชีวภาพของต้นกล้า ผลการศึกษาพบว่า ต้นกล้าทั้ง 3 ชนิดตอบสนองต่อการใส่ปุ๋ยแตกต่างกันทั้งในด้านการเจริญเติบโตและการสะสมของมวลชีวภาพ มีเพียง E. bengalensis ซึ่งเป็นชนิดที่โตไวเท่านั้นที่แสดงการตอบสนองอย่างมีนัยสำคัญต่อการใส่ปุ๋ยในปริมาณสูงสุด การใส่ปุ๋ยปริมาณ 600 มก. เพิ่มอัตราการเจริญเติบโตสัมพัทธ์ของ E. bengalensis ได้ร้อยละ 60 แต่สัดส่วนมวลชีวภาพของรากลดลงร้อยละ 4 เมื่อเทียบกับชุดควบคุม การใส่ปุ๋ยช่วยส่งเสริมอัตราการเจริญเติบโตของชนิดที่โตไวมากกว่าที่จะเพิ่มแหล่งสะสมอาหาร ในทางกลับกัน ชนิดที่โตช้าซึ่งมีความต้องการธาตุอาหารต่ำ จึงไม่ตอบสนองต่อการเติมธาตุอาหารมากนัก อย่างไรก็ตาม ควรมีการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับผลของปุ๋ยต่อการเจริญเติบโตและการสะสมมวลชีวภาพของพรรณไม้ชนิดที่โตไว เพื่อให้สามารถผลิตกล้าไม้ที่คุ้มราคาและมีคุณภาพสูงสำหรับการฟื้นฟูป่า