การสะสมและพลวัตคาร์บอนในดินของระบบนิเวศป่าธรรมชาติและแปลงฟื้นฟูป่า อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่

Kavinchan, N. 2013. Soil carbon sequestration and dynamics of natural forest ecosystems and forest restoration plots in Mae Rim District, Chiang Mai Province. PhD thesis, The Graduate School, Chiang Mai University.
บทคัดย่อ: การศึกษาคาร์บอนใต้ดินในป่าที่ฟื้นฟูด้วยวิธีพรรณไม้โครงสร้างโดยหน่วยวิจัยการฟื้นฟูป่า ซึ่งตั้งอยู่ในเขตหมู่บ้านแม่สาใหม่ อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ที่มีอายุการปลูกคือ 11, 7 และ 2 ปี เปรียบเทียบกับแปลงป่าธรรมชาติใกล้เคียง รวมถึงแปลงที่ไม่ได้รับการฟื้นฟู (แปลงควบคุม) การศึกษาการสะสมปริมาณเศษซากพืชโดยการใช้ตาข่ายขนาด 1 x 1 ตารางเมตรรองรับเศษซากพืชที่ร่วงหล่นในแปลงศึกษาเป็นเวลา 32 เดือน (มิถุนายน 2552 – มกราคม 2555) โดยปริมาณเศษซากพืชอยู่ในช่วง 1.54 – 17.61 ตัน/เฮกตาร์ โดยป่าธรรมชาติมีปริมาณเศษซากพืชที่ร่วงหล่นสูงสุด รองลงมาคือ แปลงอายุ 11, 7, แปลงควบคุมและแปลงอายุ 2 ปี ตามลา ดับดังนี้ คือ 17.61, 13.98, 13.18, 6.24 และ 1.54 ตัน/เฮกตาร์ ส่วนปริมาณคาร์บอนในเศษซากพืช เท่ากับ 6.82, 4.96, 4.35, 2.08 และ 0.53 ตันคาร์บอนต่อเฮกตาร์ โดยป่าฟื้นฟูที่อายุมากจะมีแนวโน้มของเศษซากพืชและปริมาณคาร์บอนที่สะสมในเศษซากพืชมากกว่าแปลงที่อายุน้อย การย่อยสลายเศษซากพืชที่เป็นตัวแทนของพรรณไม้โครงสร้าง 3 ชนิดได้แก่ ทองหลางป่า ก่อแป้นและมะเดื่อน้อย โดยพบว่า มะเดื่อน้อยมีการย่อยสลายสูงสุด รองลงมาคือ ทองหลางป่าและก่อแป้น และได้มีการศึกษาการย่อยสลายของเศษซากพืชโดยการใช้ถุงตาข่ายขนาดใหญ่ โดยพบว่าอัตราการย่อยสลายสูงสุดในแปลงอายุ 7 ปีรองลงมาคือ แปลงอายุ 11 ปี แปลงควบคุม แปลงป่าธรรมชาติและแปลงอายุ 2 ปี คือ 2.85, 1.27, 1.20, 1.12 และ 1.08 ตามลำดับ
นอกจากนั้น ยังมีการศึกษาคาร์บอนที่สะสมในดินจากผิวดินจนถึงระดับความลึก 200 เซนติเมตรโดยพบว่าแปลงอายุ 2 ปีมีปริมาณอินทรีย์คาร์บอนสะสมในดินสูงสุดรองลงมาคือ 254.40, แปลงอายุ 7 ปี แปลงป่าธรรมชาติ แปลงควบคุมและแปลงอายุ 11 ปีเท่ากับ 251.14, 244.96, 205.88 และ 161.82 ตัน คาร์บอนต่อเฮกตาร์