การศึกษาเปรียบเทียบความหลากหลายของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในพื้นที่ป่าธรรมชาติและป่าฟื้นฟู อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่

Kunchorn, P. 2022. The diversity of mammal in natural and restored forest in Mae Rim district, Chiang Mai Province. MSc special project, Chiangmai University
ในปัจจุบันพื้นที่ป่าไม้ ในอำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ได้ถูกเปลี่ยนเป็นพื้นที่เพาะปลูก ทำให้พื้นที่ดังกล่าวเสื่อมโทรมและส่งผลกระทบต่อแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า ในการนี้จึงมีความ พยายามในการฟื้นฟูป่าจากองค์กรต่าง ๆ ซึ่งจำเป็นต้องมีการติดตามผล งานวิจัยนี้จึงมีวัตถุประสงค์ เพื่อสำรวจความหลากหลายและความถี่ในการดักจับภาพของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ในพื้นที่ป่า ธรรมชาติและป่าฟื้นฟู อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ โดยทำการติดตั้งกล้องจับภาพอัตโนมัติใน 3 พื้นที่ ได้แก่ ป่าธรรมชาติ, ป่าฟื้นฟูม่อนแจ่ม และ ป่าฟื้นฟูม่อนล่อง ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ถึง เดือนธันวาคม 2564 ทั้งหมด 1,026 กับดักคืนต่อพื้นที่ ในป่าธรรมชาติ พบสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมจำนวน 12 ชนิดจาก 8 วงศ์ 3 อันดับ ชะมดแผงหางปล้อง (Viverra zibetha) มีความถี่ในการเข้ามาในพื้นที่มากที่สุด มีค่าความถี่ของการดักจับภาพ (FD) 4.09 ในขณะที่ป่าฟื้นฟูม่อนแจ่ม พบสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมจำนวน 6 ชนิดจาก 5 วงศ์ 1 อันดับ โดยพบว่า แมวดาว (Prionailurus bengalensis) มีความถี่ในการเข้ามา ในพื้นที่มากที่สุด มีค่า FD เท่ากับ 0.88 และป่าฟื้นฟูม่อนล่อง พบสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมจำนวน 7 ชนิด จาก 5 วงศ์ 4 อันดับ โดยกระแตเหนือ (Tupaia belangeri) มีความถี่ในการเข้ามาในพื้นที่มากที่สุด มีค่า FD เท่ากับ 0.39 เมื่อเปรียบเทียบความเหมือนของชนิดสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่พบในพื้นที่ป่า ธรรมชาติและป่าฟื้นฟูม่อนแจ่ม พบว่ามีค่าดัชนีความคล้ายคลึง เท่ากับ 67 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่พื้นที่ ป่าธรรมชาติและป่าฟื้นฟูม่อนล่อง มีค่าดัชนีความคล้ายคลึง เท่ากับ 32 เปอร์เซ็นต์ และพื้นที่ป่าฟื้นฟูม่อนแจ่มและป่าฟื้นฟูม่อนล่องมีค่าดัชนีความคล้ายคลึง เท่ากับ 46 เปอร์เซ็นต์ จากผลการวิจัย แสดงให้เห็นว่าการฟื้นฟูป่าให้แหล่งที่อยู่อาศัยแก่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมและการพบสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ที่ทําหน้าที่กระจายเมล็ดบ่งบอกถึงศักยภาพของพื้นที่ที่จะได้รับการฟื้นฟูตามธรรมชาติ