FORRU
ห้องสมุด

การศึกษาเปรียบเทียบการแพร่กระจายเมล็ดพันธุ์และผู้ล่าเมล็ดพันธุ์ใน พื้นที่ป่าธรรมชาติและป่าฟื้นฟู อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่

Language:
การศึกษาเปรียบเทียบการแพร่กระจายเมล็ดพันธุ์และผู้ล่าเมล็ดพันธุ์ใน พื้นที่ป่าธรรมชาติและป่าฟื้นฟู อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่
Date:
2022-03-16
Author(s):
Titaree Yamsri
Publisher:
Chiangmai University
Serial Number:
252
Suggested Citation:

Yamsri, T. 2022. Seed Dispersal and Seed Predation Between Natural Forest and Restored Forest Area in Mae Rim District, Chiang Mai. BSc special project, Chiangmai University

บทคัดย่อ: การกระจายเมล็ดและการล่าเมล็ดเป็นกระบวนการทางธรรมชาติในป่าซึ่งชี้ให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ป่าได้ การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบการกระจายเมล็ดของไม้ยืนต้นและผลกระทบของผู้ล่าเมล็ดในพื้นที่ป่าที่ได้รับการฟื้นฟูและพื้นที่ป่าธรรมชาติบริเวณม่อนแจ่ม การกระจายเมล็ดศึกษาโดยติดตั้งตาข่ายดักเมล็ด (hanging mesh seed trap) ขนาดหน้าตัดกว้าง 50x50 cm ฐานสูง 100 cm จำนวน 10 อันในแต่ละพื้นที่ และเก็บข้อมูลชนิดของเมล็ดในตาข่าย พบว่าในป่าธรรมชาติมีจำนวนเมล็ดไม้ยืนต้น 11 ชนิดจาก 5 วงศ์ และไม่ทราบชนิด 1 ในป่าฟื้นฟูพบเมล็ดของไม้ยืนต้น 7 ชนิดจาก 5 วงศ์ ซึ่ง Fagaceae คือวงศ์ที่พบมากที่สุดทั้งสองพื้นที่ โดยทั้ง 7 ชนิดที่พบในป่าฟื้นฟูสามารถพบได้ในป่าธรรมชาติ มีดัชนีความคล้ายคลึงของการกระจายเมล็ดอยู่ที่ 74% อาจบอกได้ว่ามีการกระจายเมล็ดเข้าไปยังพื้นที่ป่าข้างเคียง

สำหรับการล่าเมล็ดทำการศึกษา โดยวางแปลงย่อย 3 แปลงในแต่ละพื้นที่ศึกษา และวางถาดเพาะเมล็ดขนาด 35.6 x 54.6 cm. จำนวน 4 ถาดต่อแปลง และวางเมล็ดไม้ยืนต้น 4 ชนิด (50 เมล็ดต่อถาด) ได้แก่ สะเดาช้าง (Acrocarpus fraxinifolius Wight ex Arn.) นางพญาเสือโคร่ง (Prunus cerasoides D.Don) เสี้ยวดอกแดง (Bauhinia purpurea Linn.) และมะกอกป่า (Spondias pinnata ( L. f. ) Kurz) สำรวจการหายไปของเมล็ดเป็นเวลา 16 สัปดาห์ จากการเปรียบเทียบเปอร์เซ็นการหายไปของเมล็ดในพื้นที่ป่าทั้งสองพบว่า เมล็ดขนาดเล็กของสะเดาช้างและนางพญาเสือโคร่งมีการหายไปของเมล็ดที่สูง (93%) ในขณะที่เมล็ดที่ใหญ่กว่า คือมะกอกป่าพบการหายไปของเมล็ดที่ต่ำ (1%) ชี้ให้เห็นว่าลักษณะและขนาดของเมล็ดมีผลต่อการถูกล่า นอกจากนี้ยังแสดงให้เห็นว่าถึงแม้เมล็ดอาจกระจายเข้าสู่พื้นที่ฟื้นฟูได้ แต่ยังอาจมีความเสี่ยงของการถูกล่าโดยผู้ล่าเมล็ด และส่งผลให้การฟื้นฟูตามธรรมชาติไม่สามารถเกิดขึ้นโดยเร็ว