การศึกษาเปรียบเทียบการเจริญเติบโตและความหลากหลายของต้นกล้าที่งอกจากเมล็ดพันธ์ตามธรรมชาติ ในพื้นที่ป่าธรรมชาติและป่าฟื้นฟูในอำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่
Saeaiew, A. 2022. Comparative Study on Tree Seedling Growth Rate and Diversity Between a Natural Forest and a Restored Forest Area in Mae Rim District, Chiang Mai. BSc special project, Chiangmai University.
บทคัดย่อ: ในปี พ.ศ.2510 ประเทศไทยมีพื้นที่ป่าสูงถึง 53.22 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ในประเทศ แต่ในปี พ.ศ.2564 พื้นที่ป่าลดลงเหลือเพียง 31.68 เปอร์เซ็นต์ ในจำนวนนี้ 63.99 เปอร์เซ็นต์ และเป็นป่าในพื้นที่ภาคเหนือ ซึ่งพื้นที่ป่าในจังหวัดเชียงใหม่คิดเป็น 69.29 เปอร์เซ็นต์ สำหรับอำเภอแม่ริมนั้น ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544 - พ.ศ.2563 มีการสูญเสียพื้นที่ป่ามากถึง 46 เฮกตาร์ ซึ่งสาเหตุมาจากการใช้ประโยชน์จากป่าไม้ในรูปของอุตสาหกรรมเกษตร การเปลี่ยนการใช้ประโยชน์พื้นที่ขนาดใหญ่ การทำไร่หมุนเวียนขนาดเล็ก พื้นที่ป่าที่ถูกทำลายเหล่านี้สามารถฟื้นฟูได้เองตามธรรมชาติแต่อาจใช้เวลานาน การฟื้นฟูป่าเป็นอีกช่องทางในการเร่งการฟื้นตัวของธรรมชาติที่ถูกทำลาย การศึกษาในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาเปรียบเทียบความหลากหลายและความคล้ายคลึงกันของต้นกล้าที่งอกเองตามธรรมชาติของไม้ยืนต้นในป่าธรรมชาติและป่าฟื้นฟู 2) ศึกษาเปรียบเทียบการเจริญเติบโตของต้นกล้าที่งอกเองตามธรรมชาติของไม้ยืนต้นในป่าธรรมชาติและป่าฟื้นฟู การวิจัยนี้มีพื้นที่ศึกษาจำนวน 3 แปลงในอำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ เก็บข้อมูลโดยใช้ Circular Sampling Unit (CSU) ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางยาว 6 เมตร โดยบันทึกผลจากต้นกล้าที่มีความสูงตั้งแต่ 10 เซนติเมตร ถึง 100 เซนติเมตร แปลงละ 10 CSU ทำการจำแนกชนิดและติดแท็กเพื่อบันทึกการเจริญเติบโตของต้นกล้าที่พบระหว่างเดือนมีนาคม ถึง ธันวาคม พ.ศ.2564
จากการสำรวจพบว่าในแปลงป่าธรรมชาติม่อนแจ่ม พบต้นกล้าที่งอกเองตามธรรมชาติ 30 ชนิด 310 ต้น แปลงป่าฟื้นฟูม่อนแจ่มพบต้นกล้า 29 ชนิด 223 ต้น และในแปลงป่าฟื้นฟูม่อนล่องพบต้นกล้า 36 ชนิด 223 ต้น ในพื้นที่แปลงฟื้นฟูม่อนล่องพบจำนวนชนิดสูงถึง 36 ชนิด เนื่องจากเป็นแปลงที่มีต้นไม้อยู่เดิมก่อนการเข้าไปฟื้นฟู ต่างจากพื้นที่แปลงป่าฟื้นฟูม่อนแจ่มที่ก่อนฟื้นฟูในพื้นที่ที่ไม่มีต้นไม้หลงเหลืออยู่ และในพื้นที่มีวัชพืชน้อยทำให้ต้นกล้าและเมล็ดพันธุ์ไม่ถูกขัดขวางในการงอกและเจริญเติบโต เมื่อวัดค่าความหลากหลายตามธรรมชาติ (Shannon’s Diversity Index) ของทั้งสามพื้นที่ พื้นที่ป่าฟื้นฟูม่อนล่องค่าของความหลากหลายตามธรรมชาติมากที่สุด เท่ากับ 2.86 ซึ่งแสดงให้เห็นว่าพื้นที่ป่าฟื้นฟูม่อนล่องมีความหลากหลายทางชีวภาพสูงกว่าสองพื้นที่ และเมื่อเปรียบเทียบดัชนีความคล้ายคลึงของต้นกล้าไม้ยืนต้นที่งอกเองตามธรรมชาติ พบว่าค่าดัชนีความหลากหลายระหว่างพื้นที่ป่าธรรมชาติม่อนแจ่มและพื้นที่ป่าฟื้นฟูม่อนล่องมากที่สุด เท่ากับ 50.75% แสดงให้เห็นว่าในพื้นที่ป่าธรรมชาติมีความคล้ายคลึงกับพื้นที่ป่าฟื้นฟูม่อนล่อง เนื่องจากสภาพทางกายภาพของพื้นที่ปลูกของป่าฟื้นฟูม่อนล่องมีความคล้ายคลึงกับพื้นที่ของป่าธรรมชาติมากกว่าจึงทำให้มีค่าดัชนีความคล้ายคลึงมากกว่า ต้นกล้าที่สามารถพบได้ในทั้งสามพื้นที่มี 4 ชนิด คือ Gluta obovata Craib , Litsea glutinosa (Lour.) C.B. Rob., Phoebe lanceolata และ Syzgium fruticosum DC. จะเห็นได้ว่าการฟื้นฟูป่าในพื้นที่ที่มีลักษณะทางกายภาพของพื้นที่ใกล้เคียงกับพื้นที่ป่าธรรมชาติมากจะทำให้ความหลากหลายและความคล้ายคลึงใกล้เคียงกับป่าธรรมชาติมากกว่าเช่นกัน