ผู้ล่าเมล็ดที่พบได้ในพื้นที่เกษตรร้างในภาคเหนือของประเทศไทย
Naruangsri, K. & P. Tiansawat. Potential seed predators in an abandoned agricultural area in northern Thailand. Proceedings of the 3rd National Meeting on Biodiversity Management in Thailand, 2016, 124–133.
Contributors
บทคัดย่อ: การฟื้นฟูป่าด้วยวิธีการหยอดเมล็ดโดยตรง (Direct seeding) มักประสบกับปัญหาการล่าเมล็ดโดยสัตว์ที่อยู่ในพื้นที่ โดยเฉพาะ กลุ่มของสัตว์มีกระดูกสันหลัง เมล็ดที่ถูกเคลื่อนย้ายออกไปอาจถูกทำลาย ทำให้สูญเสียความสามารถในการงอกได้ ดังนั้นการศึกษาชนิดของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็กและนกในพื้นที่ที่มีการหยอดเมล็ด และประเมินความเสี่ยงของการล่าเมล็ดจึงเป็นประโยชน์ต่อการวางแผนการฟื้นฟูป่า งานวิจัยนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความหลากหลายของสัตว์มีกระดูกสันหลังที่เข้ามาในแปลงฟื้นฟูป่าหลังการหยอดเมล็ด โดยใช้กล้องดักถ่ายสัตว์ (Camera trap) ที่ติดตั้งในพื้นที่ป่าเลื่อมโทรมขนาด 500 ตารางเมตร ห่างจากป่าธรรมชาติ 70 เมตร มีการนำเมล็ดไม้ 5 ชนิดวางไว้เพื่อสร้างสภาวะให้เหมือนกับการหยอดเมล็ด ในแต่ละสัปดาห์จะมีการเปลี่ยนจุดติดตั้งแบบสุ่มภายในแปลง การดักถ่ายภาพใช้เวลา 7 เดือน จากวันที่มีการหยอดเมล็ด ผลการศึกษาพบว่า สามารถถ่ายภาพสัตว์ได้ทั้งหมด 15 ชนิด โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ได้แก่ สัตว์ที่กินหรือเคลื่อนย้ายเมล็ด ได้แก่ หนู โดยหนูหริ่งป่าใหญ่ขนเสี้ยน (Mus sp) และ นกคุ่มอกลาย (Turnix suscitator) และสัตว์ที่ไม่มีปฏิสัมพันธ์กับเมล็ด (13 ชนิด) สัตว์ที่มีความถี่ของการเข้ามาในพื้นที่มากที่สุด ได้แก่ หนูหริ่งป่าใหญ่ขนเสี้ยน โดยเฉพาะในช่วงแรกของการหยอดเมล็ด และมีความสัมพันธ์กับระยะที่มีการหยอดเมล็ดในแปลง การศึกษานี้แสดงให้เห็นว่าในพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมมีสัตว์มีกระดูกสันหลังขนาดเล็กเข้ามาในพื้นที่และเคลื่อนย้ายเมล็ดออกไป ดังนั้นหากจะมีการฟื้นฟูพื้นที่โดยการหยอดเมล็ดควรหาวิธีป้องกันการเคลื่อนย้ายเมล็ดเหล่านั้น