อัตราการฟื้นตัวจากไฟป่าของพรรณไม้โครงสร้างบางชนิด
Chaiwong, S., 2006. Recovery Rates of Some Framework Tree Species After Fire. BSc. Thesis, Chiang Mai University
บทนำ: การศึกษาในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาและเปรียบเทียบหาชนิดของพรรณไม้โครงสร้างที่มีความสามารถในการฟื้นตัวจากไฟป่าโดยเก็บข้อมูลจากแปลงฟื้นฟูป่าด้วยวิธีพรรณไม้โครงสร้างของหน่วยวิจัยการฟื้นฟูป่า (FORRU) ณ หมู่บ้านแม่สาใหม่ อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งมีอายุ 3 ปี และได้รับผลกระทบจากไฟป่าในเดือนเมษายน 2548 เป็นพื้นที่ 40 X 40 ตารางเมตร จากการสำรวจเปอร์เซ็นต์การรอดชีวิตของพรรณไม้โครงสร้างที่อยู่ในแปลงสำรวจ พบพรรณไม้โครงสร้างที่รอดชีวิตทั้งหมด 22 ชนิด ซึ่งเป็นร้อยละ 79 ของพรรณไม้โครงสร้างทั้งหมดในแปลงก่อนการเกิดไฟป่า ทั้งนี้ในแต่ละชนิดมีอัตราการรอดชีวิตที่แตกต่างกันออกไปอยู่ในช่วงร้อยละ 36 ถึง 100 ตัวอย่างพรรณไม้โครงสร้างที่รอดชีวิต เช่น มะกัก Spondias pinnata (L. f.) Kurz (100%) and Gmelina arborea Roxb. (100%) เป็นต้น อัตราการฟื้นตัวของพรรณไม้โครงสร้างบางชนิดที่รอดชีวิตนั้นได้จากการเก็บข้อมูล จำนวน ความยาว เส้นผ่านศูนย์กลาง และความกว้างของทรงพุ่ม ของยอดอ่อนที่แตกออกมาใหม่จากลำต้นเดิมหลังจากได้รับผลกระทบจากไฟป่าซึ่งมี 3 ตำแหน่ง คือ กิ่งใหม่บริเวณโคนต้น กิ่งใหม่บริเวณลำต้น และกิ่งใหม่บริเวณกิ่งของต้นเดิม โดยเก็บข้อมูลเดือนละ 1 ครั้ง ตั้งแต่เดือน กรกฎาคม 2548 จนถึง เดือน มกราคม 2549 จากผลการสำรวจพบว่าพรรณไม้โครงสร้างแต่ละชนิดมีความสามารถในการฟื้นตัวจากไฟป่าที่แตกต่างกัน (P = 0.0001, ที่ระดับความเชื่อมั่น 95%) และพรรณไม้ที่มีแนวโน้มในการฟื้นตัวจากไฟป่าได้รววเร็วที่สุด ได้แก่ นางพญาเสื่อโคร่ง (Prunus cerasoides D.Don) ซึ่งมีอัตราการรอดชีวิตร้อยละ 90 สามารถเพิ่มความยาวกิ่งใหม่ 341 ซม/ปี และมีความกว้างทรงพุ่มเท่ากับ 206 ซม.