ความหลากหลายของชนิดพันธุ์ไม้ยืนต้นและพืชพื้นล่างของแปลงปลูกพรรณไม้โครงสร้างและป่าธรรมชาติดงเซ้ง อําเภอแม่ริม จังหวดเชียงใหม่
Parinyarat, J., 2009. Trees and Ground Flora Diversity of Framework Species Plantation Plots and Dong Seng Forest, Mae Rim District, Chiang Mai Province. Msc thesis, The Graduate School, Chiangmai University
บทคัดย่อ: การฟื้นฟูป่าโดยวิธีพรรณไม้โครงสร้าง และ ANR ของหน่วยวิจัยฟื้นฟูป่า มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อต้องการให้โครงสร้างและความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่กลับมาใกล้เคียงกลับสภาพป่าดั้งเดิม การศึกษาครั้งนี้เก็บข้อมูลพรรณไม้ในป่าฟื้นฟูอายุ 9 ปี 5 ปี 1 ปี และป่าธรรมชาติเพื่อเปรียบเทียบว่า โครงสร้างและความหลากหลายของสังคมพืช ในป่าฟื้นฟูที่อายุมากขึ้นจะมีโครงสร้างและความ หลากหลายทางชีวภาพใกล้เคียงกับป่าธรรมชาติหรือไม่ โดยการศึกษาโครงสร้างป่าเก็บข้อมูลชนิด ต้นไม้ เส้นรอบวงที่ระดับ 130 เซนติเมตร ความสูงของต้น และ ความกว้างของทรงพุ่ม ในแนวศึกษายาว 40 เมตร กว้าง 6 เมตร พบต้นไม้ในป่าธรรมชาติ 32 ชนิด และป่าฟื้นฟูอายุ 9 ปี 5 ปี และ 1 ปี พบพันธุ์ไม้ 35 45 และ 44 ชนิดตามลำดับ ชนิดของพันธุ์ไม้ที่มีค่าดัชนีความสำคัญสูงที่สุดในแต่ละพื้นที่แตกต่างกัน คือ ป่าธรรมชาติไม้เด่นได้แก่ Castanopsis diversifolia ในป่าฟื้นฟูอายุ 9 ปี Spondias axillaris ในป่าฟื้นฟูอายุ 5 ปี Acrocarpus fraxinifolius และป่าฟื้นฟูอายุ 1 ปี Prunus cerasoides เมื่อเปรียบเทียบความคล้ายคลึงกันของพื้นที่พบในป่าทั้ง 4 แห่ง มีความคล้ายคลึงกันน้อยกว่า 35 เปอร์เซนต์ ในแต่ละพื้นที่พบว่าต้นไม้มีความสูงและขนาดของลำต้นเพิ่มขึ้นตามอายุของป่า และจากการศึกษาโครงสร้างป่าพบว่า ป่าธรรมชาติมีเรือนยอดประมาณ 2 ชั้นที่ไม่ ต่อเนื่องกันในขณะที่ป่าฟื้นฟูอายุ 9 ปีมีเรือนยอดค่อนข้างที่ต่อเนื่องกันประมาณ 2 ชั้น และในป่าฟื้นฟูจะมีความหนาแน่นของต้นไม้มากกว่าในป่าธรรมชาติซึ่งอาจเป็นผลจากความหนาแน่นของกล้าไม้เมื่อเริ่มปลูก
การศึกษาสังคมพืชพื้นล่าง โดยเก็บข้อมูลชนิดพืชที่มีความสูงไม่เกิน 1 เมตร ในแปลงวงกลมรัศมี 5 เมตร 12 วง ในแต่ละพื้นที่ศึกษาและบันทึกเปอร์เซ็นต์ปกคลุมพื้นที่ โดยเก็บข้อมูลในช่วงฤดูฝน และฤดูแล้ง พบว่าพืชเด่นส่วนใหญ่อยู่ในวงศ์ Gramineae ความหลากหลายของสังคมพืชพื้นล่างในป่าฟื้นฟูมีค่าน้อยกว่าป่าธรรมชาติทั้งในช่วงฤดูฝนและฤดูแล้ง โดยในช่วงฤดูฝนจะมีค่าความหลากหลายมากกว่า โดยพบว่าชนิดที่พบในฤดูฝนกับฤดูแล้งมีความแตกต่างกัน และพบว่ากลุ่มสังคมพืชพื้นล่างป่าฟื้นฟูแตกต่างจากป่าธรรมชาติอย่างชัดเจน พืชพื้น ล่างที่พบในป่าธรรมชาติส่วนใหญ่เป็นกล้าไม้และในป่าฟื้นฟูอายุมากก็มีแนวโน้มเช่นเดียวกัน ส่วน ในป่าฟื้นฟูอายุน้อยพืชพื้นล่างส่วนใหญ่เป็นพวกไม้ล้มลุก และจากการศึกษาพรรณไม้ยืนต้นในป่า ธรรมชาติโดยศึกษาตามแนวเส้นสำรวจยาว 700 เมตร 3 แนวระดับความสูงทุกๆ 25 เมตร ในแปลงวงกลมขนาดรัศมี 5 เมตร บันทึกจำนวนทั้งสิ้น 84 วง ชนิดของพืชและเส้นรอบวง พบว่ามี 110 ชนิด ใน 45 วงศ์ โดยบริเวณกลางเขาจะมีความหลากหลายมากที่สุด อาจเนื่องมาจากบริเวณยอดเขาถูกรบกวนจากไฟ และเชิงเขาถูกรบกวนโดยกิจกรรมมนุษย์ เมื่อนำข้อมูลชนิดพรรณที่พบในป่า ธรรมชาติเปรียบเทียบกับชนิดของกล้าไม้ที่เข้ามาใหม่ของสังคมพืชพื้นล่างในป่าฟื้นฟู พบว่าส่วน ใหญ่เป็นชนิดเดียวกันกับที่พบในป่าธรรมชาติ
ดังนั้นการฟื้นฟูป่าโดยวิธีการพรรณไม้โครงสร้างจึงมีศักยภาพในการฟื้นฟูโครงสร้างของสังคมพืชโดยเฉพาะไม้ยืนต้น ให้มีลักษณะใกล้เคียงกับป่าธรรมชาติได้โดยใช้ระยะเวลาประมาณ 9 ปี