FORRU
ห้องสมุด

การฟื้นตัวของความหลากหลายของไลเคนระหว่างการฟื้นฟูป่าในภาคเหนือของประเทศไทย

Language:
การฟื้นตัวของความหลากหลายของไลเคนระหว่างการฟื้นฟูป่าในภาคเหนือของประเทศไทย
Date:
2006
Author(s):
Phongchiewboon, A
Publisher:
the Graduate School, Chiang Mai University
Serial Number:
222
Suggested Citation:

Phongchiewboon, A., 2006. Recovery of Lichen Diversity During Forest Restoration in Northern Thailand. MSc thesis, the Graduate School, Chiang Mai University.

บทคัดย่อ การศึกษานี้วิจัยเรื่องการฟื้นตัวของความหลากหลายของไลเคนระหว่างการฟื้นฟูป่าในภาคเหนือของประเทศไทยของกลุ่มไลเคนบนต้นไม้ที่ช่วงอายุต่างๆ ของการฟื้นฟูป่า ทำการรวบรวมความหลากหลาย, ความชุก และชนิดของไลเคนที่วิเคราะห์จำแนกได้จากแหล่งที่ทำการศึกษา 4 แห่ง คือ จากแปลงปลูกป่าใกล้บ้านแม่สาใหม่ที่อุทยานแห่งชาติ ดอยสุเทพ-ปุย ที่ปลูกโดยหน่วยวิจัยการฟื้นฟูป่า (FORRU) จำนวน 3 แปลง คือที่ปลูกในปีพ.ศ. 2541, ปีพ.ศ. 2543 และปี พ.ศ.2545 (นับอายุแปลงได้ 8 ปี, 6 ปี และ 4 ปี ตามลำดับโดยนับจากปีที่ปลูก) และนำมาเปรียบเทียบกับไลเคนที่พบตามธรรมชาติที่ป่าดงเซ็งบนดอยแม่สา วัตถุประสงค์ในการศึกษาครั้งนี้ เพื่อตรวจดูการฟื้นคืนของกลุ่มไลเคนบนต้นไม้ที่มีอายุต่างกันตามอายุแปลงปลูกป่าและให้ได้ข้อมูลเบื้องต้นของชนิดไลเคนที่สามารถใช้เป็นดัชนีชี้วัดการฟื้นตัวของป่าในภาคเหนือของประเทศไทย เลือกใช้และเก็บไลเคนบนพรรณไม้โครงสร้าง 4 ชนิดคือ หมอนหิน (Hovenia dulcis Thunb) เลี่ยน (Melia toosendan Sieb & Zucc) นางพญาเสือโคร่ง (Prunus cerasoides D. Don) และมะกัก (Spondias axillaris Roxb) ข้อมูลไลเคนใช้การเก็บตัวอย่างด้วยกรอบศึกษามาตรฐานที่ทำจากตาข่ายลวดเชิงพาณิชย์สำเร็จรูปขนาดความกว้าง 20 เซนติเมตรที่มีช่องเล็กภายในขนาดหน่วยละ 2.5 x 2.5 ตารางเซนติเมตร มาพันรอบต้นไม้ที่แนวระนามสูงจากพื้นดิน 1 เมตร

การฟื้นฟูป่าด้วยวิธีใช้พรรณไม้โครงสร้างให้ผลการฟื้นคืนของไลเคนมีค่าความเหมือนเมื่อเทียบกับป่าธรรมชาติ 57% (Sorensen’s similarity index) ที่ป่ามีอายุปลูก 8 ปี (แปลง พ.ศ.2541) เทียบกับป่าดงเซ็ง พบชนิดของไลเคนดังนี้ Buellia sp.1, Diorygma cf. epiglaucum, Dirinaria confluens, Graphis sp.2, Graphis sp.4, Graphis sp.5, Graphis sp.9, Graphis sp.10, Graphis sp.11, Graphis sp.13, Haematomma puniceum, Lecanora sp.1, Lecanora sp.5, Malcolmiella sp.5, Malcolmiella sp.2, Malcolmiella sp.7, Pertusaria sp.1, Porina sp.1. การฟื้นคืนของความหลากหลายของไลเคนเพิ่มขึ้นตามอายุของแปลงปลูกป่า ไลเคนบางชนิดอาจใช้เป็นดัชนีชีวภาพบ่งชี้ถึงการฟื้นคืนของป่าในการศึกษานี้ ได้แก่ Graphis sp.9, Haematomma puniceum, Malcolmiella sp.2 และ Hypotrachyna sp.1.

รวบรวมตัวอย่างไลเคนบนเปลือกไม้ได้ 795 ตัวอย่าง แบ่งออกได้ 2 กลุ่มหลัก คือ ไลเคนชนิดครัสโตส และไลเคนชนิดโฟลิโอส จำแนกเป็น 6 อันดับ 14 วงศ์ 31 สกุล และ 70 ชนิด ค่าของความหลากหลาย (Shannon’s diversity index) สูงสุดบนต้น P. cerasoides (2.80) ในป่าดงเซ็งและพบค่าต่ำสุดบนต้น M. toosendan  ในแปลงปลูกพ.ศ.2545 (0.25) พบไลเคนชนิดครัสโตสบางสกุล เช่น Chrysothrix มีแนวโน้มที่จะเป็นไลเคนกลุ่มบุกเบิก และไลเคนชนิดโฟลิโอส บางสกุลเช่น Bulbothrix พบมากขึ้นในแปลงปลูกที่มีอายุมากขึ้นและในป่าธรรมชาติ

จากดัชนีความเหมือน (Sorensen’s index) แสดงว่ากลุ่มไลเคนบนชนิดต้นไม้ที่เลือกทั้งหมดมีความเหมือนมากที่สุดระหว่างแปลงปลูกปีพ.ศ.2541 และปี 2543 มีค่า 0.69 (69%) แปลงที่ค่าความเหมือนที่ต่ำสุดคือ 0.23 (23%) พบที่แปลงปลูกปีพ.ศ.2545 และป่าดงเซ็ง เมื่อเปรียบเทียบในปีปลูกเดียวกันพบว่าในแปลงปลูกปีพ.ศ.2541 บนต้น H. dulcis และ S. axillaris มีค่าความเหมือนสูงสุดคือ 0.85 (85%) ค่าความเหมือนต่ำสุดคือ 0.13 (13%) พบบนต้น H. dulcis ในแปลงปลูกที่ปี 2543 และต้น P. cerasoides ในแปลงพ.ศ.2545 ความเข้มของแสงและอุณหภูมิในแปลงปลูกปีพ.ศ.2541 และป่าดงเซ็งไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญเช่นเดียวกับในแปลงปลูกปีพ.ศ. 2543 และ 2545 ที่ความเชื่อมั่น 95% ในแหล่งศึกษาทั้งหมด ความชื้นสัมพัทธ์ไม่แตกต่างอย่างมีนัยสำคัญที่ความเชื่อมั่น 95% และใช้วิธีวิเคราะห์ Principal Coordinate Analysis (PCA) และ Detrended Correspondence Analysis (DCA) ด้วยโปรแกรม MVSP3.1 (Multivariate Statistical Package) เพื่อหาความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มไลเคนและปัจจัยแวดล้อมต่างๆ พบว่า ค่าความเป็นกรด-ด่างของเปลือกไม้, อุณหภูมิ, ความชื้นสัมพัทธ์, ปริมาณความเข้มแสงและความสูงจากระดับน้ำทะเล ต่างมีผลต่อการกระจายและความหลากหลายของไลเคนในแต่ละแหล่งการศึกษา พบว่าการศึกษาในป่าเขตอบอุ่นเรื่องกลุ่มไลเคนและปัจจัยสภาพแวดล้อมมีมาก แต่การศึกษาในป่าเขตร้อนยังมีน้อยมาก การศึกษานี้อาจเป็นจุดเริ่มต้นพยายามทำความกระจ่างที่จะเข้าใจกระบวนการฟื้นคืนความหลากหลายของไลเคนในแหล่งที่มีการฟื้นฟูป่าในประเทศไทย อย่างไรก็ตาม ในอนาคตจำเป็นที่จะต้องเพิ่มการศึกษาให้มากขึ้นเรื่องการฟื้นคืนความหลากหลายของไลเคนในป่าเขตร้อนและการฟื้นฟูป่าเพื่อหาดัชนีชีวภาพที่เหมาะสมใช้ติดตามการฟื้นคืนของป่า