วิธีการพรรณไม้โครงสร้าง: การฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพของป่าเขตร้อนในสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง
Elliot, S., D. Blakesley, K. Hardwick, K. Sinhaseni, G. Pakkad, & S. Chairuangsri. 2011. The Framework Species Method: Restoring tropical forest biodiversity in a changing climate. In: Proceedings of the International Symposium on Rehabilitation of Tropical Rainforest Ecosystems, Kuala Lumpur, 24-25 October, 2011. (Majid, N.M., O.H. Ahmed, A.S. Sajap & M.M. Islam, eds). Faculty of Forestry, Universiti Putra Malaysia, Selangor.
บทคัดย่อ: เป้าหมายสูงสุดของการฟื้นฟูป่า คือ การสร้างป่าเสถียรซึ่งประกอบด้วยมวลชีวภาพสูงสุด มีโครงสร้างป่าที่ซับซ้อนและมีความหลากหลายของชนิดพันธุ์ที่จะถูกส่งเสริมโดยสภาพดินและสภาพอากาศของพื้นที่ฟื้นฟู เนื่องจากประเภทของป่าเสถียรขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ และสภาพอากาศนั้นกำลังเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ไม่แน่นอน เมื่อทำการฟื้นฟูในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งโดยเฉพาะจึงเป็นไปไม่ได้ที่จะรู้ว่าป่าเสถียรประเภทใดที่ควรตั้งเป้าหมายไว้ ดังนั้น การฟื้นฟูจึงควรพยายามมองหาวิธีการเพื่อเพิ่มขีดความสามารถสูงสุดของระบบนิเวศป่าไม้เพื่อการปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในอนาคต โดย i) เพิ่มทั้งความหลากหลายของชนิดพันธุ์และความหลากหลายทางพันธุกรรม และ ii) ส่งเสริมให้เกิดการเคลื่อนย้ายของยีนระหว่างพื้นที่ในระดับภูมิทัศน์ ทั้งสองกระบวนการนี้เป็นใจความสำคัญของวิธีการพรรณไม้โครงสร้างเพื่อการฟื้นฟูป่า ทำให้เป็นแนวคิดที่เหมาะสำหรับการฟื้นฟูระบบนิเวศป่าเขตร้อนในสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง วิธีการนี้อาศัยการส่งเสริมกระบวนการการแพร่กระจายของเมล็ดพันธุ์ตามธรรมชาติเพื่อให้เกิดการฟื้นตัวอย่างรวดเร็วของความหลากหลายทางชีวภาพ โดยการปลูกป่าที่มีการผสมผสานของพันธุ์ไม้พื้นเมือง 20-30 ชนิด ซึ่งเป็นชนิดที่มีลักษณะ คือ i) อยู่รอดได้ดีและเติบโตอย่างรวดเร็วเมื่อปลูกในพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม ii) มีเรือนยอดหรือทรงพุ่มที่หนาแน่นเพื่อบดบังแสงสู่วัชพืช และ iii) ให้ทรัพยากร (อาหาร แหล่งทำรัง และอื่นๆ) ตั้งแต่อายุยังน้อย ซึ่งสามารถดึงดูดสัตว์ป่าที่ทำหน้าที่กระจายเมล็ดเข้ามาในพื้นที่ฟื้นฟู รวมไปถึง การรักษาไว้ซึ่งความหลากหลายทางพันธุกรรมในระหว่างกระบวนการเก็บเมล็ด การปลูกต้นไม้ผสมผสานกันมากถึง 30 ชนิด และการดูแลกล้าไม้ตามธรรมชาติที่มีอยู่เดิม ทั้งหมดนี้เป็นการเพิ่มโอกาสที่ชนิดพันธุ์หรือจีโนไทป์บางชนิดจะสามารถเติบโตได้ในอนาคต ไม่ว่าสภาพอากาศจะเป็นอย่างไร นอกจากนี้ วิธีการนี้ยังมีประสิทธิภาพในการดึงดูดสัตว์ผู้กระจายเมล็ดในระยะทางสูงสุด 10 กม. ซึ่งจะช่วยให้การเคลื่อนย้ายของยีนสะดวกขึ้น ทั้งนี้ งานตีพิมพ์นี้ได้มีการสรุปผลจากการศึกษาลักษณะของวิธีการพรรณไม้โครงสร้างในภาคเหนือของประเทศไทยไว้ด้วย