FORRU
ห้องสมุด

นิเวศวิทยาการสืบพันธุ์และการขยายพันธุ์ไม้ยืนต้นในสกุล มะเดื่อ ไทร (Ficus spp.) เพื่อเป็นพรรณไม้
โครงสร้างสำหรับการฟื้นฟูป่า

Language:
นิเวศวิทยาการสืบพันธุ์และการขยายพันธุ์ไม้ยืนต้นในสกุล มะเดื่อ ไทร (Ficus spp.) เพื่อเป็นพรรณไม้ โครงสร้างสำหรับการฟื้นฟูป่า
Date:
2012-02
Author(s):
Kuaraksa, C.
Publisher:
The Graduate School, Chiang Mai University
Serial Number:
199
Suggested Citation:

Kuaraksa, C., 2012. Reproductive Ecology and Propagation of Fig Trees (Ficus spp.) as Framework Trees for Forest Restoration. PhD Thesis, The Graduate School, Chiang Mai University.

     ไม้ในกลุ่มมะเดื่อ ไทร ได้รับการส่งเสริมเป็นพรรณไม้โครงสร้างสำหรับปลูกเพื่อฟื้นฟูสภาพป่าในเขตร้อน เนื่องด้วยมีความสำคัญในระบบนิเวศโดยเฉพาะในแง่ของการเป็นแหล่งอาหารสำหรับสัตว์ป่า วิทยานิพนธ์นี้ได้เสนอผลการศึกษาทางด้านนิเวศวิทยาการสืบพันธุ์ การขยายพันธุ์และกรรมวิธีการปลูก ในมะเดื่อแบบแยกเพศแยกต้นจำนวน 7 ชนิด เพื่อประโยชน์ในการนำไปใช้ในโครงการฟื้นฟูป่าประกอบด้วย มะเดื่อใบใหญ่ ไทรใบขน มะเดื่อปล้อง มะเดื่อเกลี้ยง มะเดื่อปล้องหิน มะเดื่อขนทองและมะเดื่อผูก     ในระดับประชากรมะเดื่อเกือบทุกชนิดติดผลตลอดปีแต่ปริมาณมากน้อยขึ้นอยู่กับฤดูกาล ต้นเพศเมียส่วนใหญ่ให้ผลผลิตในช่วงฤดูฝน ขณะที่พัฒนาการของช่อดอกในต้นเพศผู้ส่วนใหญ่เกิดในช่วงหน้าแล้งก่อนหน้าต้นเพศเมียประมาณ 1-3 เดือน เนื่องด้วยมีต้นเพศผู้ของมะเดื่อใบใหญ่ไทรใบขน มะเดื่อเกลี้ยงและมะเดื่อผูกติดผลในปริมาณน้อยในช่วงฤดูฝนทำให้การกระจายตัวของตัวผสมเกสรอาจถูกจำกัด เมื่อพิจารณาระดับภายในต้นพบว่ารูปแบบพัฒนาการของผลมีความแตกต่างกันอย่างชัดเจนในมะเดื่อแต่ละชนิดแต่ส่วนใหญ่เป็นไปโดยพร้อมเพรียง มีเฉพาะมะเดื่อปล้องและมะเดื่อปล้องหินที่พัฒนาการของผลภายในต้นเดียวกันมีหลากหลายระยะในช่วงเวลาเดียวกัน     ความสัมพันธ์ระหว่างมะเดื่อกับแตนมะเดื่อส่วนใหญ่เป็นแบบเฉพาะเจาะจงคือมีแตนเพียงหนึ่งชนิดที่ทำหน้าที่เป็นแมลงพาหะถ่ายเรณู อย่างไรก็ดีพบแตนผสมเกสร 2 ชนิดในมะเดื่อปล้อง ในขณะที่มะเดื่อใบใหญ่และมะเดื่อเกลี้ยงใช้แตนผสมเกสรชนิดเดียวกัน นอกจากนี้เราพบว่าแตนผสมเกสรมีศักยภาพสูงในการผสมเกสรและค้นหาต้นมะเดื่อเพื่อวางไข่ไม่ว่าต้นมะเดื่อนั้นจะอยู่ห่างไกลจากต้นอื่นหรืออยู่ในสภาพสิ่งแวดล้อมที่โดนรบกวนจากกิจกรรมของมนุษย์     วิธีที่เหมาะสมในการขยายพันธุ์มะเดื่อเพื่อใช้ปลูกฟื้นฟูสภาพป่าคือการเพาะจากเมล็ดเพราะต้นกล้ามีอัตราการเจริญเติบโตและอัตราการรอดตายสูงทั้งในเรือนเพาะชำและแปลงทดลอง นอกจากนี้การเพาะจากเมล็ดยังเป็นวิธีที่สะดวก ง่ายและประหยัดเมื่อเปรียบเทียบกับกรรมวิธีอื่น     ผลที่ได้จากการศึกษาไม่เพียงแต่ทำให้เราทราบถึงช่วงเวลาในการเก็บเมล็ด การขยายพันธุ์ เทคนิควิธีและสถานที่ที่เหมาะสมในการปลูกมะเดื่อแต่ละชนิด องค์ความรู้ที่ได้ยังสามารถนำไปประกอบใช้วางแผนการจัดการในโครงการฟื้นฟูป่าเพื่ออนุรักษ์ไว้ทั้งมะเดื่อและแตนมะเดื่อที่มีบทบาทสำคัญต่อระบบนิเวศ     มะเดื่อที่ศึกษาส่วนใหญ่มีคุณสมบัติเป็นพรรณไม้โครงสร้างที่ดีสมควรนำไปใช้อย่างแพร่หลายในโครงการฟื้นฟูป่า