FORRU
ห้องสมุด

ผลของไม้ปลูกและชุมชีพนกต่อการตั้งตัวของกล้าไม้ธรรมชาติในพื้นที่ฟื้นฟูป่าด้วยวิธีพรรณไม้โครงสร้าง

Language:
ผลของไม้ปลูกและชุมชีพนกต่อการตั้งตัวของกล้าไม้ธรรมชาติในพื้นที่ฟื้นฟูป่าด้วยวิธีพรรณไม้โครงสร้าง
Date:
2007
Author(s):
Wydhayagarn, C.
Publisher:
The Graduate School, Chiang Mai University
Serial Number:
183
Suggested Citation:

Wydhayagarn, C., 2007. The Effects of Planted Trees and Bird Community on Natural-Seedling Recruitment in Forest Restoration Area Using Framework Tree Species Method. MSc thesis, the Graduate School, Chiang Mai University. 168 pp.

บทคัดย่อ การศึกษาครั้งนี้มีขึ้นเพื่อตรวจสอบผลของไม้ปลูกและชุมชีพนกต่อการตั้งตัวของกล้าไม้ธรรมชาติในพื้นที่ฟื้นฟูป่าด้วยวิธีพรรณไม้โครงสร้างของหน่วยวิจัยการฟื้นฟูป่า (FORRU) ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ณ บ้านแม่สาใหม่ อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ในเขตอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย การสำรวจกล้าไม้ธรรมชาติทำโดยการศึกษาภายใต้ทรงพุ่มของพรรณไม้โครงสร้าง 5 ชนิด ได้แก่ ทองหลางป่า (Erythrina subumbrans) หมอนหิน (Hovenia dulcis) เลี่ยน (Melia toosendan) นางพญาเสือโคร่ง (Prunus cerasoides) และมะกั๊ก (Spondias axillaris) โดยเลือกพรรณไม้โครงสร้างชนิดละ 5 ต้น รวม 25 ต้นในแปลงปลูก 3 แปลงที่มีอายุ 9 ปีเท่ากัน การสำรวจนกที่เข้ามาเกาะพรรณไม้โครงสร้างด้วยกล้องส่องทางไกลแบบสองดา เพื่อศึกษาจำนวนชนิด ความหลากหลาย และจำนวนของนกที่มาเกาะ ซึ่งอาจมีผลต่อการตั้งตัวของกล้าไม้ธรรมชาติ พบกล้าไม้ทั้งสิ้น 36 ชนิด ภายใต้ทรงพุ่มของต้นไม้ที่คัดเลือก โดย 11 ชนิด เป็นกล้าไม้ที่มีเมล็ดกระจายโดยลมและ 25 ชนิด เป็นกล้าไม้ที่มีเมล็ดกระจายโดยสัตว์ ความหนาแน่นของกล้าไม้ที่มีเมล็ดกระจายโดยสัตว์มีค่าสูงกว่าความหนาแน่นของกล้าไม้ที่กระจายโดยลมภายใต้ทรงพุ่มของพรรณไม้ที่คัดเลือกทุกชนิด แปลงเก็บตัวอย่างใต้ทรงพุ่ม นางพญาเสือโคร่ง พบความหนาแน่นของกล้าไม้มากที่สุด อัตราการรอดของกล้าไม้โดยเฉลี่ยคือ 96.1% บ่งชี้ให้เห็นว่าพรรณไม้โครงสร้างที่คัดเลือกสามารถสนับสนุนการตั้งตัวของกล้าไม้ธรรมชาติได้ดีภายในหนึ่งปีที่มีการติดตามตรวจสอบกล้าไม้ พบนกทั้งหมด 48 ชนิด จากการสำรวจระหว่างเดือน กรกฎาคม พ.ศ.2549 จนถึงเดือนมิถุนายน พ.ศ.2550 นกจำนวน 228 ตัว ถูกพบว่าใช้ประโยชน์จากพรรณไม้โครงสร้างที่คัดเลือก โดยนกที่ไม่กินผลไม้ใช้ประโยชน์จากพรรณโครงสร้างมากกว่านกที่กินผลไม้ นกที่กินผลไม้พบมากกว่านกที่ไม่กินผลไม้ในทรงพุ่มของทองหลางป่าเท่านั้น ผลของชุมชีพนกต่อการตั้งตัวของกล้าไม้ธรรมชาติมีความแตกต่างกันในระหว่างพรรณไม้โครงสร้างแต่ละชนิด พรรณไม้ที่ใหญ่กว่าดึงดูดนกได้มากกว่า โดยเป็นแหล่งทรัพยากรอาหาร ที่เกาะพัก และที่ทำรัง อาจเพิ่มการถ่ายมูลเมล็ดลงในแปลงเก็บตัวอย่างมากกว่าพรรณไม้ที่มีขนาดเล็กกว่าและมีความสามารถในการดึงดูดนกได้น้อยกว่า ทองหลางป่า ออกดอกสีแดงสดเมื่อผลัดใบซึ่งสามารถให้น้ำหวานปริมาณมากเป็นแหล่งอาหาร นางพญาเสือโคร่ง ดึงดูดนกได้เป็นจำนวนมากที่สุด กิ่งเล็กๆ ปริมาณมาก รวมถึงดอกและผล สามารถให้ที่เกาะจำนวนมาก และเป็นแหล่งอาหารแก่นก จำนวนชนิดของนกพบมากที่สุดในมะกั๊ก โดยนกใช้บริเวณของลำต้นแตกแขนงเป็นที่อาศัยทำรัง จำนวนชนิดของนก ความหลากหลายและจำนวนนกพบน้อยที่สุดในหมอนหิน เนื่องจากทรงพุ่มของพรรณไม้ไม่ใหญ่พอที่จะดึงดูดนก นอกจากนี้พรรณไม้ยังไม่เคยออกดอกตั้งแต่เริ่มปลูก ปัจจัยทางกายภาพและชีวภาพในแปลงตัวอย่างบางประการที่น่าจะมีผลต่อการตั้งตัวของกล้าไม้ธรรมชาติ ได้แก่ ความเข้มแสง การสะสมของเศษซากพืช ความเสียหายของกล้าไม้จากร่วงหล่นของกิ่งไม้ ความแตกต่างของปัจจัยเหล่านี้ขึ้นอยู่กับลักษณะของพรรณไม้โครงสร้างแต่ละชนิดที่คัดเลือกด้วย