การล่าเมล็ดและต้นกล้าของพรรณไม้โครงสร้าง 5 ชนิด ในพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม ของบ้านหนองหอย อำเภอ แม่ริม จังหวัดเชียงใหม่
Naruangsri, N., 2017. Seed and Seedling Predation of Five Framework Tree Species in a Degraded Forest Area of Ban Nong Hoi, Mae Rim District, Chiang Mai Province. Master thesis, Graduate School, Chiangmai University
บทคัดย่อ: การฟื้นฟูป่าโดยวิธีการหยอดเมล็ด มีข้อจำกัดหนึ่ง คือ การล่าเมล็ดและต้นกล้าโดยศัตรูตามธรรมชาติ ที่มีทั้งสัตว์มีกระดูกสันหลังและสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อหาปริมาณการล่าเมล็ดและต้นกล้าโดยสัตว์มีกระดูกสันหลัง และสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังในพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม โดยใช้พรรณไม้ท้องถิ่น 5 ชนิด ได้แก่ หมอนหิน (Hovenia dulcis) นางพญาเสือโคร่ง (Prunus cerasoides) ฝาละมี (Alangium kurzii) มะกอกห้ารู (Choerospondias axillaris) และเลือดม้า (Horsfieldia glabra) เมล็ดของพืชแต่ละชนิดถูกนำมาหยอดภายใต้ชุดการทดลองที่มีการป้องกันศัตรูตามธรรมชาติ ประกอบด้วย 1) กรงลวด (ป้องกันสัตว์มีกระดูกสันหลัง) 2) การฉีดพ่นยาฆ่าแมลง (ป้องกันสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง) 3) กรงลวดและการฉีดพ่นยาฆ่าแมลง (ป้องกันทั้งสัตว์มีและไม่มีกระดูกสันหลัง) 4) กรงเปิด และ 5) ชุดควบคุม (สัตว์ทุกชนิดสามารถเข้าถึงเมล็ดได้) มีการเปรียบเทียบเปอร์เซ็นการหายไปของเมล็ด การงอกของเมล็ดและการตายของต้นกล้าระหว่างชุดการทดลอง พบว่าการหายไปของเมล็ดมีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญระหว่างชนิด เปอร์เซ็นการหายไปของเมล็ดสูงที่สุด สำหรับ เลือดม้าซึงเป็นชนิดที่มีเมล็ดขนาดใหญ่ที่สุดและเมล็ดของพืชชนิดนี้ไม่มีการงอกเลย การหายไปของเมล็ด ของพืชอีก 4 ชนิด คือ หมอนหิน นางพญาเสือโคร่ง ฝาละมี และมะกอกห้ารู มีการหายไปของเมล็ดที่ต่ำและไม่แตกต่างอย่างมีนัยสำคัญระหว่างชนิดของพืช ในขณะที่กรงลวดช่วยลดปริมาณการหายไปของเมล็ดได้ ชี้ให้เห็นว่า สัตว์มีกระดูกสันหลังเป็นผู้ล่าเมล็ดที่สำคัญในพื้นที่ศึกษานี้ อย่างไรก็ตามการป้องกันศัตรูตามธรรมชาติไม่ได้ช่วยเพิ่มการงอกของเมล็ด ความแตกต่างระหว่างการงอกของเมล็ดพืชแต่ละชนิดเป็นผลมาจากลักษณะของเมล็ดและปัจจัยที่พืชต้องการในการงอก นอกจากนี้การป้องกันศัตรูตามธรรมชาติสามารถป้องการการตายของต้นอ่อนที่ยังไม่มีใบแท้ (cotyledonous-seedling) แต่ไม่สามารถป้องกันการตายของต้นกล้าที่มีใบแท้ (leafy-seedling) ได้ ซึ่งชี้ให้เห็นว่าปัจจัยหลักที่มีผลต่อการตายของต้นกล้า คือ ลักษณะของเมล็ด/ต้นกล้า และการแข่งขันกับหญ้าและวัชพืช นอกจากนี้ได้มีการติดตั้งกล้องดักถ่ายสัตว์ เพื่อสำรวจสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็กและนกที่มีแนวโน้มว่าจะเป็นผู้ล่าเมล็ด/ต้นกล้า มีการใช้กับดักหลุม กับดักกาว และการเก็บตัวอย่างโดยตรง เพื่อเก็บตัวอย่างสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง สำหรับสัตว์มีกระดูกสันหลัง หนู (Rattus sp.) มีความถี่ของการเข้ามาในพื้นที่มากสุด โดยเฉพาะในช่วงเดือนแรกของการหยอดเมล็ด สำหรับสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง มด (อันดับ Hymenoptera) มีจำนวนมากกว่าสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังกลุ่มอื่น ทั้งหนูและมดมีการรายงานว่าเป็นผู้ล่าเมล็ดในพื้นที่เสื่อมโทรม จากการศึกษานี้ ชนิดที่เหมาะสำหรับใช้ในการหยอดเมล็ด เรียงลำดับตามความเหมาะสมจากมากไปน้อย คือ นางพญาเสือโคร่ง ฝาละมี และมะกอกห้ารู สำหรับ หมอนหิน ได้รับการพิจารณาว่าเป็นชนิดที่มีความเหมาะสมสำหรับการหยอดเมล็ดระดับต่ำ นอกจากนี้ เลือดม้า ไม่แนะนำให้นำมาใช้สำหรับการฟื้นฟูป่าโดยการหยอดเมล็ดโดยปราศจากการป้องกันการล่าเมล็ด