วิธีหยอดเมล็ดสําหรับการฟืนฟูระบบนิเวศป่าทีราบต่ำเขตร้อนในภาคใต้ ของประเทศไทย
Tunjai, P., 2012. Direct Seeding for Restoring Tropical Lowland Forest Ecosystems in Southern Thailand. PhD thesis, The Graduate School, Walailak University.
บทคัดย่อ: การตัดไม้ทำลายป่าเป็นสาเหตุหลักของการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพระดับโลกที่ส่งผลต่อการสูญเสียผลผลิตจากป่าและการบริการจากระบบนิเวศ นอกจากนี้ยังเป็นต้นเหตุของการปล่อยคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศที่เกิดจากมนุษย์คิดเป็นร้อยละ 20-25 การขยายตัวของพื้นที่เกษตรกรรมเชิงเดี่ยวและความเป็นเมืองส่งผลต่อการลดลงของความหลากหลายทางชีวภาพ ในภาคใต้ของประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสูญเสียป่าที่ราบต่ำเขตร้อนซึ่งกระจายตัวเป็นบริเวณกว้างในอดีตแต่ถูกแบ่งเป็นพื้นที่ขนาดเล็กเป็นหย่อมๆ ในปัจุบัน การปลูกต้นไม้เป็นวิธีฟื้นฟูป่าที่มีค่าใช้จ่ายสูง แต่ใช้กันอย่างแพร่หลายเนื่องจากไม่มีทางเลือกมากนัก ดังนั้นวิธีฟื้นฟูป่าที่มีค่าใช้จ่ายต่ำและสามารถประยุกต์ใช้กับพื้นที่ขนาดใหญ่จำเป็นต้องได้รับการพัฒนาเพื่อรับมือกับผลลัพธ์จากการตัดไม้ทําลายป่าในเขตร้อน วิธีหยอดเมล็ดเป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับเร่งการฟื้นตัวของป่าในพื้นที่เสื่อมโทรมด้วยค่าใช้จ่ายต่ำที่สุด อย่างไรก็ตามความสำเร็จของวิธีนี้ถูกลดทอนด้วยอัตราการงอกของเมล็ดที่ต่ำ ความเสี่ยงต่อการสูญเสียเมล็ด อัตรารอดตายและการเจริญเติบโตของกล้าไม้ที่ไม่ค่อยดีนัก การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อค้นหาชนิดพันธุ์ วิธีการที่มีประสิทธิภาพและเหมาะสมสำหรับการหยอดเมล็ดเพื่อฟื้นฟูป่าที่ราบต่ำเขตร้อนในภาคใต้ของประเทศไทย เพื่อสามารถระบุปัจจัยแวดล้อมและลักษณะของชนิดพันธุ์ซึ่งมีส่วนต่อความสำเร็จและอาจพัฒนาให้เหมาะสมกับระบบ นิเวศอื่นต่อไป
มีการบันทึกข้อมูลชีพลักษณ์ของพรรณไม้ 43 และ 35 ชนิด ในหย่อมป่าบนพื้นที่ชายฝั่งด้านตะวันตกและตะวันออกของภาคใต้เป็นเวลา 1 ปี พบว่าพรรณไม้ 12 และ 15 ชนิด มีผลสุกในช่วงต้นฤดูฝนซึ่งเหมาะสําหรับการฟื้นฟูป่าโดยวิธีหยอดเมล็ดของพื้นที่ชายฝั่งด้านตะวันตกและ ตะวันออกตามลำดับ จากการศึกษาลักษณะของเมล็ดพบว่า ขนาด รูปทรง และความชื้นเมล็ด สามารถใช้เป็นเกณฑ์ในการคัดเลือกชนิดพันธุ์ที่มีศักยภาพสำหรับวิธีหยอดเมล็ด ชนิดพันธุ์ที่มีความชื้นระดับต่ำถึงปานกลาง ขนาดปานกลางถึงใหญ่ และรูปร่างเมล็ดรีถึงกลม มีโอกาสเป็น ชนิดพันธุ์ที่เหมาะสมด้วยระดับความเชื่อมั่นประมาณร้อยละ 70 จากผลการศึกษาพบว่าพืชวงศ์ถั่ว (Leguminosae) และวงศ์มะเดื่อ (Moraceae) เป็นนักบุกเบิกที่ประสบความสำเร็จและมีอัตราการเจริญเติบโตที่ดีมากแม้ในพื้นที่เสื่อมโทรม รองลงมา คือสมาชิกวงศ์มะพลับ (Ebenaceae) วงศ์ตะขบฝรั่ง (Tiliaceae) และวงศ์สัก (Verbenaceae) นอกจากนี้ ชนิดพันธุ์ที่ผลิตผลสดและส่วนมากกระจายเมล็ดโดยสัตว์นับว่าเป็นเป้าหมายที่มี ศักยภาพสำหรับการหยอดเมล็ดช่วงต้นฤดูฝน การศึกษาครั้งนี้เน้นให้เห็นถึงความสำคัญของการ คัดเลือกชนิดพันธุ์ที่มีอย่างจำกัดในช่วงต้นฤดูฝนซึ่งส่งผลอย่างมากต่อความสำเร็จของการฟื้นฟูป่าโดยวิธีหยอดเมล็ด
การศึกษานี้มีการเก็บเมล็ดพรรณไม้ 30 ชนิด (20 ชนิด ในพื้นที่ชายฝั่งด้านตะวันตก 14 ชนิด ชายฝั่งด้านตะวันออก ทั้งนี้มี 4 ชนิด ที่พบทั้งสองบริเวณ) เพื่อเปรียบเทียบระหว่างวิธีหยอดเมล็ดกับการปลูกต้นไม้ที่ใช้กล้าไม้จากการเพาะเมล็ด ทั้งนี้เมล็ดจะถูกเพาะที่เรือนเพาะชำและแปลงทดลองในช่วงเวลาเดียวกัน มีการเก็บข้อมูลการงอก การตั้งตัวของกล้าไม้และการ เจริญเติบโต ที่อาจได้รับผลกระทบจากการคลุมเมล็ด การเพิ่มธาตุอาหารในดิน และการป้องกัน เมล็ดจากการถูกทำลาย จากผลการศึกษาพบว่าปัจจัยทั้งหมดไม่มีผลต่อการตั้งตัวของกล้าไม้และ การเจริญเติบโตอย่างมีนัยสำคัญในช่วงปีแรกหลังการหยอดเมล็ด แสดงว่าความชื้นและธาตุ อาหารที่ต่ำมากในดิน รวมไปถึงการถูกล่าเมล็ดไม่ใช่ปัจจัยจำกัดสำหรับการตั้งตัวและการ เจริญเติบโตในระยะแรกของกล้าไม้ที่เจริญมาจากการหยอดเมล็ดในแปลงทดลอง หลังการหยอด เมล็ด 1 ปี กล้าไม้ที่ผลิตจากเรือนเพาะชำจำนวน 26 ชนิด ถูกนำไปปลูกในแปลงทดลองที่ ระยะห่างระหว่างต้นประมาณ 50 เซนติเมตร จากกล้าไม้ที่ตั้งตัวได้จากวิธีหยอดเมล็ด จำนวน 25 ชนิด เพื่อเปรียบเทียบการเจริญเติบโตและค่าใช้จ่ายทั้งหมด หลังจากการหยอดเมล็ด 18 เดือน พบว่ากล้าไม้ในแปลงทดลองมีการเจริญเติบโตที่ดีมาก ค่าเฉลี่ยของทุกตัวแปรสูงกว่ากล้าไม้ที่ผลิตจากเรือนเพาะชำประมาณ 2 เท่า วิธีหยอดเมล็ดสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายได้ประมาณร้อยละ 30 โดยมีความหนาแน่นของกล้าไม้ที่ตั้งตัวได้ไม่แตกต่างกัน คิดเป็นต้นทุน 33 และ 45 บาทต่อต้น สําหรับวิธีหยอดเมล็ดและการปลูกจากกล้าไม้ ตามลำดับ
การศึกษาครั้งนี้แสดงให้เห็นศักยภาพของวิธีหยอดเมล็ดเพื่อการฟื้นฟูป่าที่ราบต่ำเขตร้อนในบริเวณกว้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งค่าใช้จ่ายที่ต่ำกว่ามากเมื่อเปรียบเทียบกับการฟื้นฟูป่าโดยการปลูกกล้าไม้ อย่างไรก็ตามเพื่อที่จะให้สามารถนำวิธีการนี้ไปใช้ประโยชน์ได้อย่างแท้จริง ควรมีการศึกษาชนิดพันธุ์ที่หลากหลายและสัดส่วนของชนิดที่เหมาะสมในการหยอดเมล็ดแต่ละครั้ง