FORRU
ห้องสมุด

ผลของการฟื้นฟูป่าต่อความหลากหลายของชนิดและองค์ประกอบของสังคมนกในอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย 

Language:
ผลของการฟื้นฟูป่าต่อความหลากหลายของชนิดและองค์ประกอบของสังคมนกในอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย 
Date:
2007
Author(s):
Toktang, T
Publisher:
The Graduate School, Chiang Mai University
Serial Number:
143
Suggested Citation:

Toktang, T., 2007. The Effects of Forest Restoration on the Species Diversity and Composition of a Bird Community in Northern Thailand. MSc Thesis, The Graduate School, Chiang Mai University.

บทคัดย่อ : ในขณะที่การทำลายป่ายังคงเป็นไปอย่างต่อเนื่อง การฟื้นฟูระบบนิเวศป่าไม้จึงถูกยกให้เป็นประเด็นสำคัญในระดับต้น ๆ ของการอนุรักษ์ความหลากหลายทางธรรมชาติ แต่งานวิจัยเกี่ยวกับผลของการพื้นฟูป่าและความหลากหลายทางชีวภาพมีจำนวนน้อยมาก งานวิจัยชิ้นนี้เป็นการวิจัยเพื่อศึกษาผลของการฟื้นฟูป่าต่อความหลากหลายของชนิดและองค์ประกอบของสังคมนก ในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทย ในพื้นที่แปลงปลูกป่าซึ่งปลูกโดยใช้วิธีการพรรณไม้โครงสร้างของหน่วยวิจัยเพื่อการฟื้นฟูป่า (FORRU) ณ บ้านแม่สาใหม่ ในเขตอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย ตั้งอยู่ระดับความสูง 1200-1300 เมตรจากระดับน้ำทะเล พิกัด18° 52'N, 98 51'E ชนิดของพรรณไม้ที่ปลูก เป็นพรรณไม้ท้องถิ่นที่สามารถดึงดูดสัตว์ป่าซึ่งทำหน้าที่เป็นตัวกระจายเมล็ดพันธุ์ตามธรรมชาติ เช่น นก หรือ ค้างคาว การวิจัยใช้เวลา 1 ปี เดือนมิถุนายน พ.ศ.2545-กรกฎาคม พ.ศ. 2546 โดยวิธีการศึกษาแบบ Point counts และ Mackinnon List เพื่อศึกษาความหลากชนิด ความชุกชุม และความหนาแน่นของนกในแปลงควบคุมและแปลงปลูกป่าที่มีอายุต่าง ๆ กัน คือแปลงปลูกในปี พ.ศ. 2541 (อายุ 4 ปี) พ.ศ. 2543 (อายุ 2 ปี) และพ.ศ. 2545 รวมทั้งบันทึกพฤติกรรมการใช้ประโยชน์จากต้นไม้ของนก เพื่อศึกษาชนิดของต้นไม้ที่ดึงดูดนกให้เข้ามาในแปลงปลูกป่า  จากการวิจัยพบนกทั้งหมด 88 ชนิด 57 สกุล 30 วงศ์ เป็นนกประจำถิ่น 64 ชนิด นกอพยพ 19 ชนิด เป็นนกกินผลไม้ 3 ชนิด นกกินทั้งพืชและสัตว์ 15 ชนิด พบนกในแปลงควบคุม 36 ชนิด พบนกในแปลงปี พ.ศ. 2543,2545 และ 2541 จำนวน 43 45 และ 47 ชนิดตามลำดับ กลุ่มนกปรอดเป็นชนิดนกเด่นในแปลงปลูกป่า เช่น นกปรอดหัวโขน นกปรอดหัวสีเขม่า และนกปรอดหัวตาขาว ชนิดนกเด่นในแปลงควบคุมคือ นกกินแมลงกระหม่อมแดง นกปรอดหัวโขน และนกกระจิบหญ้าอกเทา ผลการศึกษาจากวิธีการ Mackinnon List พบว่าแปลงอายุ 2 ปีมีความหลากชนิด (richness indices) ของนกมากที่สุด รองลงมาคือแปลงควบคุม แปลงอายุ 1 ปี และสุดท้ายคือแปลงอายุ 4 ปี วิธีการ Point count ได้ผลสรุปว่าแปลงปลูกป่ามีค่าความหลากหลายชนิดของนก และค่าความหลากหลาย (diversity indices) มากกว่าในแปลงควบคุม ในแปลงควบคุมมีความสม่ำเสมอ (evenness) ของค่าความชุกชุมของนกสูงกว่าแปลงปลูกทุกแปลงซึ่งสอดคล้องกัน เมื่อเทียบค่าความเหมือนกัน (similarity) พบว่าแปลงอายุ 4 ปีกับแปลงอายุ 2 ปีมีความเหมือนกันมากที่สุดและแปลงอายุ 4 ปีกับแปลงอายุ 1 ปีมีความแตกต่างกันมากที่สุด ความหนาแน่นของประชากรนกในแปลงควบคุมมีมากกว่าในแปลงปลูกป่า อย่างไรก็ตามพบว่าในแปลงควบคุมมีความหนาแน่นของประชากรนกที่ชอบอาศัยในพื้นที่เปิดโล่งมากกว่าในแปลงปลูกป่าในขณะที่ในแปลงปลูกป่ามีความหนาแน่นของประชากรนกที่ชอบอาศัยในพื้นที่ป่ามากกว่าพื้นที่ควบคุม นกใช้ประโยชน์จากพืชที่มีเนื้อไม้จำนวน 41 ชนิด ซึ่งในจำนวนนี้ 18 ชนิดเป็นพืชอาหารของนก โดยนกใช้ประโยชน์ด้วยการกินผลไม้ ดอกไม้ และน้ำหวานจากดอกไม้  การวิจัยนี้แสดงให้เห็นว่าการปลูกป่า ด้วยวิธีการพรรณไม้โครงสร้างสามารถเพิ่มความหลากชนิดของนกโดยคิดจากทั้งพื้นที่ ด้วยการดึงดูดนกที่อาจนำพาเมล็ดพันธุ์เข้ามาสู่พื้นที่ปลูกป่าและช่วยในการฟื้นตัวของป่าโดยธรรมชาติ นอกจากนี้การปลูกพรรณไม้โครงสร้างยังสามารถเพิ่มจำนวนชนิดของนกให้เข้ามาในพื้นที่มากขึ้นตามอายุที่เพิ่มขึ้นของแปลงปลูกป่า และยังพบว่า 54% ของชนิดนกในพื้นที่ปลูกป่าเป็นชนิดเดียวกันกับที่พบในป่าธรรมชาติใกล้เคียง เช่น ป่าดงเซ้งของหมู่บ้าน