ผลของการให้น้ำต่อพืชพื้นล่างในป่าเต็งรังบริเวณห้วยฮ่องไคร้
Suwannaratana, S., 1994. Effects of Irrigation on the Ground Flora of a Deciduous Dipterocarp Forest. MSc thesis, The Graduate School, Chiang Mai University.
บทคัดย่อ: ปริมาณน้ำในดินเป็นปัจจัยที่สำคัญประการหนึ่งซึ่งมีผลต่อลักษณะโครงสร้างและองค์ประกอบของป่า ดังนั้น หากมีการเพิ่มน้ำเข้าไปในป่าเต็งรังที่มีความเสื่อมโทรม อาจทำให้กลุ่มสังคมพืชในป่าเปลี่ยนไปคล้ายกับสังคมของพืชที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีความชื้นสูงกว่าป่าเต็งรัง
งานวิจัยนี้ได้ทำการศึกษาผลของการให้น้ำแก่ป่าเต็งรัง ในบริเวณศูนย์ศึกษาเพื่อการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งได้รับการให้น้ำในช่วงฤดูแล้งมาเป็นเวลา 8 ปี โดยทำการสำรวจชนิดและปริมาณของพืชพื้นล่างในแปลงตัวอย่างขนาด 1x1 ตารางเมตร จํานวน 80 แปลงใน 4 พื้นที่ ได้แก่บริเวณสันเขาและหุบเขาในพื้นที่ที่ให้น้ำ กับบริเวณสันเขาและหุบเขาในพื้นที่ที่ไม่มีการให้น้ำ โดยทำการเก็บข้อมูลทุก 3 เดือนในช่วงฤดูแล้ง และทุกเดือนในช่วงฤดูฝน ในการศึกษามวลชีวภาพและปริมาณผลผลิตขั้นปฐมภูมิ ได้ทำการศึกษา เฉพาะบริเวณพื้นที่สันเขา โดยใช้แปลงตัวอย่างขนาด 2 x 2 ตารางเมตรจำนวน 15 แปลงในแต่ละพื้นที่ นอกจากนี้ยังมีการยังทำการเก็บพืชพรรณที่อยู่เหนือดิน (above-ground standing crop) โดยใช้แปลงตัวอย่างขนาด 1 ตารางเมตร ในทุกๆ 2 เดือน แล้วทำการแยกส่วนที่มีชีวิตและไม่มีชีวิตเพื่อทำการอบและชั่งน้ำหนัก
จากการศึกษาพบว่าจำนวนชนิดของพืชพื้นล่างบนสันเขาทั้งสองพื้นที่เท่ากับ 39 ชนิด ส่วนในบริเวณหุบเขาของพื้นที่ที่ให้น้ำและไม่ได้ให้น้ำมีจำนวนชนิดเท่ากับ 52 และ 64 ชนิดตามลำดับ ความหลากหลายทางชีวภาพ (Hill's number, N1 และ N2) และความสม่ำเสมอในการกระจาย (Evenness, Modified Hill's ratio) ของสังคมพืชพื้นล่างพบว่ามีค่าสูงสุดใน บริเวณหุบเขาของพื้นที่ที่ไม่ได้รับน้ำ (36.2, 31.5, 0.9 ตามลำดับ) และต่ำสุดในบริเวณสันเขาของพื้นที่ที่ไม่ได้รับน้ำ(16.3, 11.3 และ 0.7) เปอร์เซ็นต์ของพืชที่มีวงชีวิตมากกว่าหนึ่งปีจากจำนวนพืชทั้งหมดในบริเวณสันเขาของพื้นที่ที่ได้รับน้ำมีพืชกลุ่มนี้น้อยกว่าพื้นที่ที่ไม่ได้รับน้ำ (66.67% และ 76.92% ตามลำดับ) แต่ในบริเวณหุบเขาของทั้งสองพื้นที่มีปริมาณใกล้เคียงกัน (86.54% ในบริเวณที่ให้น้ำและ 84.37% ในบริเวณที่ไม่ได้รับน้ำ) อย่างไรก็ตามในพื้นที่ที่ได้รับน้ำพบว่าพืชพวกนี้สามารถเจริญได้ดีกว่าพื้นที่ที่ไม่ได้รับน้ำ จากการศึกษาพบว่าดัชนีความคล้ายคลึงกัน (Similarity, Sorensen's index) ของพื้นที่ที่ให้น้ำและไม่ได้ให้น้ำเท่ากับ 0.74 ในบริเวณหุบเขา และ 0.62 ในบริเวณสันเขา
การศึกษาเกี่ยวกับปริมาณมวลชีวภาพและผลผลิตขั้นปฐมภูมิแสดงให้เห็นถึง ผลของการให้น้ำได้อย่างชัดเจน ส่วนของพืชที่มีชีวิตในพื้นที่ที่ได้รับและไม่ได้รับน้ำมีปริมาณสูงสุดในเดือนกันยายน (155.536 และ 84.541 กรัมต่อตารางเมตรตามลำดับ) ในขณะที่ส่วนของพืชที่ตายมีปริมาณสูงสุดในเดือนมีนาคมในพื้นที่ที่ให้น้ำ (239.710 กรัมต่อตารางเมตร) และสูงสุดในเดือนมิถุนายนในพื้นที่ที่ไม่ได้รับน้ำ (183.256 กรัมต่อตารางเมตร) ทั้งนี้ การที่ผลของการให้น้ำต่อสังคมพืชพื้นล่างไม่ชัดเจนเท่าที่ควรอาจเนื่องจากประสิทธิภาพของระบบการให้น้ำ