FORRU
ห้องสมุด

ผลของไม้ยืนต้นเต็มวัยต่อการตั้งตัวของกล้าไม้ในพื้นที่ป่าที่ถูกทำลาย

Language:
Effects of mature trees on seedling establishment on deforested sites
Date:
2003
Author(s):
Navakitbumrung, P
Publisher:
Forest Restoration Research Unit, Chiang Mai University
Serial Number:
137
Suggested Citation:

Navakitbumrung, P., 2003. Effects of Mature Trees on Seedling Establishment on Deforested Sites. MSc Thesis. The Graduate School, Chiang Mai University.

วิธีเร่งกระบวนการฟื้นฟูตามธรรมชาติในพื้นที่ป่าที่ถูกทำลายของประเทศไทย ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เนื่องจากขาดความรู้ในกระบวนการธรรมชาติของการฟื้นฟูป่า มีข้อสันนิษฐานว่าต้นไม้ยืนต้นที่ยังเหลืออยู่ในป่าที่ถูกทำลาย ดึงดูดสัตว์ที่ช่วยกระจายเมล็ดทำให้มี กล้าไม้ยืนต้นมากขึ้น งานวิจัยนี้มีเป้าหมายเพื่อศึกษา ผลของไม้ยืนต้นที่โตเต็มวัย ที่มีต่อการตั้งตัว ของกล้าไม้ยืนต้นธรรมชาติในพื้นที่ป่าถูกทำลาย และหาว่ามีไม้ยืนต้นชนิดใดสามารถนำมาปลูก เพื่อดึงดูดนกที่ช่วยกระจายเมล็ด การศึกษาโดยสำรวจต้นกล้าไม้ชนิดยืนต้นภายใต้ทรงพุ่มไม้ 7 ชนิด รวม 51 ต้น เปรียบเทียบกับกล้าไม้ในแปลงควบคุม ในพื้นที่ป่าถูกทำลายซึ่งอยู่ทางทิศใต้ของ หมู่บ้านแม่สาใหม่ อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย และสำรวจชนิดนกที่เข้ามาเกาะต้นไม้ที่ศึกษาและชนิดนกที่กินผลไม้ยืนต้นที่กำลังติดผลสุกในป่าที่สมบูรณ์ ผลการศึกษาพบกล้าไม้ยืนต้นรวม 78 ชนิด (กล้าไม้ 1,156 ต้น) ในบริเวณที่ศึกษา เป็นกล้าไม้จากสัตว์ช่วยกระจายเมล็ด 57 ชนิด (ร้อยละ 64.2 ของจำนวนกล้าไม้) และเป็นกล้าไม้จากลมกระจายเมล็ด 21 ชนิด (ร้อยละ 35.9 ของจำนวนกล้าไม้) โดยส่วนมากปริมาณกล้าไม้ภายใต้ทรงพุ่มไม่แตกต่างอย่างมีนัยสำคัญกับปริมาณกล้าไม้ในแปลงควบคุม ยกเว้นภายใต้ต้นทะโล้ (Schima wallichit (DC.) Korth.) (P <0.05) ความหนาแน่นและจํานวนชนิดของกล้าไม้ยืนต้น ที่มาจากสัตว์ช่วยกระจายเมล็ด ไม่ได้ขึ้นอยู่กับชนิดของไม้ยืนต้น (P>0.05) แสดงให้เห็นว่าไม่จำเป็นที่ ไม้ยืนต้นที่ผลิตผลไม้แบบผลสด (ตัวอย่างเช่น ข้าแป้น Callicarpa arborea Roxb. var. arborea) ดึงดูดสัตว์ช่วยกระจายเมล็ด กว่าไม้ยืนต้นที่ผลิตผลไม้แบบผลแห้ง (ตัวอย่างเช่น ทะโล้ Schima wallichit (DC.) Korth.) และ พบว่าความหนาแน่นของกล้าไม้ยืนต้นภายใต้ทรงพุ่ม ไม่สัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญกับขนาดต้นไม้ ยืนต้น (P>0.05) แต่พบว่าจำนวนชนิดของกล้าไม้ยืนต้นมีแนวโน้มลดลงเมื่อทรงพุ่มกว้างขึ้น การเปรียบเทียบอัตราการเจริญเติบโตของกล้าไม้ยืนต้นระหว่างภายใต้ทรงพุ่มไม้ยืนต้นกับในแปลง ควบคุม พบว่าไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญ (P>0.05) และกล้าไม้ต้นพังแหรใหญ่ (Trema orientalis (L.) Bl.) มีอัตราการเจริญเติบโตสูงสุด ผลการสำรวจนกพบว่า ต้นทะโล้ (Schima wallichit (DC.) Korth.) ดึงดูดนกได้มากที่สุด นกปรอด 3 ชนิด ได้แก่ นกปรอดหัวสีเขม่า นกปรอดหัวตาขาว และนกปรอดหัวสีเขม่า ซึ่งกินผลไม้เป็นอาหาร มีความสำคัญมากในการช่วยกระจายเมล็ดไม้ยืนต้นจากป่าสมบูรณ์มาสู่พื้นที่ป่าถูกทำลาย