การพัฒนาเทคนิคใหม่ของการเก็บรักษาเมล็ดและการหยอดเมล็ด สปีชีส์ต้นไม้พื้นเมืองเพื่อการฟื้นฟูป่าเขตร้อน
Waiboonya, P., Development of New Techniques of Seed Storage and Direct Seeding of Native Tree Species for Tropical Forest Restoration. PhD thesis, Graduate School, Chiang Mai University.
บทคัดย่อ: การหยอดเมล็ด หรือการนำเมล็ดปลูกลงพื้นที่ปลูกโดยตรง เป็นวิธีการที่ประหยัดในการนำมาใช้ฟื้นฟูป่า สามารถนำไปพัฒนาใช้กับการพื้นฟูป่าโดยวิธีทางอากาศและสามารถใช้เป็นทางเลือกแทนการปลูกป่าแบบดั้งเดิม ในการศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) หาสภาวะที่เหมาะสมต่อการเก็บรักษาเมล็ดและศึกษาประเภทการเก็บรักษาเมล็ด 2) เปรียบเทียบวิธีการหยอดเมล็ดระหว่างสองช่วงเวลาคือหยอดเมล็ดทันที่หลังจากเก็บเมล็ดกับหยอดเมล็ดหลังจากเก็บรักษาในช่วงเวลาที่เหมาะสม 3) เปรียบเทียบวิธีการหยอดเมล็ดกับวิธีการปลูกแบบดั้งเดิม และ 4) พัฒนาวิธีการหยอดเมล็ดให้ได้ผลที่ดีทำการทดลองกับไม้พื้นเมืองในเขตภาคเหนือ โดยการหาสภาวะที่เหมาะสมต่อการเก็บรักษาจากทดลองการแปรผันสภาวะการเก็บรักษาที่อุณหภูมิและความชื้นของเมล็ดต่างกัน การเปรียบเทียบช่วงเวลาการหยอดโดยนำเมล็ดไปหยอดในแปลงทดลองทันทีที่เก็บเมล็ดได้กับการเก็บรักษาเมล็ดช่วงระยะเวลาหนึ่งก่อนเพื่อรอหยอดในช่วงต้นฤดูฝนซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสม การเปรียบเทียบต้นกล้าที่มาจากวิธีการหยอดเมล็ดและต้นกล้าจากเรือนเพาะชำ นอกจากนี้ยังได้พัฒนาวิธีการหยอดเมล็ดโดยกาใช้ไฮโดรเจล ทั้งนี้ได้มีการปรียบเทียบการงอก การอยู่รอด การตั้งตัว และการเจริญเติบโตของต้นกล้า จากผลการทดลองแสดงให้เห็นว่า ร้อยละการงอก ค่ากลางการพักตัว และการเจริญเติบโต มีค่าไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติระหว่างเมล็ดที่หยอดทันทีกับเมล็ดที่รอหยอดในช่วงต้นฤดูฝน ส่วนไฮโดรเจลไม่มีผลต่อการงอก การอยู่รอด และการเจริญเติบโตของต้นกล้าเมล็ดประเภท ออร์โทดอกซ์ สามารถเก็บรักษาเพื่อรอหยอดเมล็ดพร้อมกันในช่วงต้นฤดูฝนได้ ในขณะที่เมล็ดประเภทรีคาลซิแทรนท์ควรหยอดเมล็ดทันทีเพื่อยังคงให้เมล็ดมีชีวิตอยู่ จากผลการทดลองสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับการพื้นฟูป่าโดยวิธีทางอากาศต่อไป