FORRU
ห้องสมุด

สมการอัลโลเมตริกชุดใหม่สำหรับการคำนวณมวลชีวภาพและคาร์บอน
ของต้นไม้ในป่าดิบเขาทุติยภูมิในภาคเหนือของประเทศไทย

Language:
New allometric equations for tree biomass  and carbon calculations in secondary  hill evergreen forests in  northern thailand
Date:
2019
Author(s):
Pothong, T.
Publisher:
The Graduate School, Chiang Mai University
Serial Number:
119
Suggested Citation:

Pothong, T., 2019. New Allometric Equations for Tree Biomass and Carbon Calculations in Secondary Hill Evergreen Forests in Northern Thailand. PhD thesis,
Graduate School, Chiang Mai University

การบุกรุกทำลายป่าและการเสื่อมสภาพของป่าไม้อย่างรวดเร็วในปัจจุบัน มีส่วนทำให้กลไกทางเศรษฐศาสตร์ได้เกิดขึ้น เช่นกลไกการซื้อขายคาร์บอน ซึ่งถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งวิธีการที่มีความสำคัญ และมีส่วนสร้างแรงจูงใจในการช่วยรักษาและฟื้นฟูป่าทุติยภูมิ ดังนั้นการวัดปริมาณการสะสมคาร์บอนที่แม่นยำและมีความน่าเชื่อถือจึงมีบทบาทสำคัญที่มีส่วนทำให้กลไกนี้บรรลุผลตามเป้าหมายได้อย่างสมบูรณ์ การศึกษานี้ได้สร้างสมการอัลโลเมตริกชุดใหม่ที่เฉพาะเจาะจงต่อป่าดิบเขาทุติยภูมิและพื้นที่ป่าของแปลงไร่หมุนเวียนในภาคเหนือของประเทศไทย ที่มีความหลากหลายของชนิดพันธุ์พืชและขนาดต้นไม้ที่แตกต่างจากป่าสมบูรณ์ประเภทอื่น ๆ การพัฒนาสมการอัลโลเมตริกชุดใหม่ได้เก็บจากตัวอย่างต้นไม้ด้วยวิธีการตัดและชั่งตัวอย่าง จากพื้นที่การศึกษา 3 พื้นที่คือ แปลงไร่หมุนเวียนอายุ 4 ปี 7 ปี และป่าทุติยภูมิหลังจากการทำไร่หมุนเวียนโดยมีอายุประมาณ 50 ปี ตัวอย่างต้นไม้ทั้งหมด 136 ต้น (รวมกับต้นไม้ที่มีการแตกหน่อจากต้นเดียวกัน) 23 ชนิด โดยมีขนาดความโตของต้นไม้ (DBH) ตั้งแต่ 1 ถึง 32.9 เซนติเมตร ตัวอย่างต้นไม้จากการอบและบดละเอียดแล้วจะถูกนำส่งเพื่อวิเคราะห์ปริมาณคาร์บอนในเนื้อไม้แต่ละชนิด การศึกษาความหนาแน่นเนื้อไม้ ได้จากการเก็บตัวอย่างจากต้นไม้ 79 ชนิด พบว่า 35 ชนิด ยังไม่มีปรากฏในฐานข้อมูลของ Global Wood Densities database ความหนาแน่นของเนื้อไม้แต่ละชนิดจากการศึกษาในครั้งนี้มีค่าเฉลี่ยอยู่ระหว่าง 0.23 ถึง 0.75 กรัมต่อลูกบาศก์เซนติเมตร ทั้งนี้การสร้างสมการอัลโลเมตริกได้ใช้ข้อมูล ขนาดความโตของต้นไม้ (DBH) ความสูง (H) และความหนาแน่นเนื้อไม้ (WD) เป็นตัวแปรอิสระ และค่ามวลชีวภาพของต้นไม้เหนือพื้นดิน (AGB) เป็นตัวแปรตาม ผลจาการการวิเคราะห์ค่าความหนาแน่นเนื้อไม้มีความแตกต่างกันระหว่างชนิดของต้นไม้ (p < 0.05) ส่งผลทำให้เมื่อเพิ่มตัวแปรอิสระ ความหนาแน่นเนื้อไม้เข้าไปในสมการในรูปของ DBH2HWD มีความสำคัญที่สามารถทำนายค่าตัวแปรตาม AGB และยังช่วยลดความไม่แน่นอนของการประเมินการสะสมมวลชีวภาพเหนือพื้นดินได้ นอกจากนี้จากการวิเคราะห์ค่าปริมาณคาร์บอนของระหว่างชนิดพบว่ามีความแตกต่างกันในทางสถิติ (p < 0.05) ค่าปริมาณคาร์บอนจากการวิเคราะห์โดยเฉลี่ยระหว่างชนิดคือ 44.84% (±1.63) ทั้งนี้จากการใช้สมการอัลโลเมตริกชุดใหม่กับข้อมูล พบว่าสามารถในการสะสมมวลชีวภาพของต้นไม้ได้มากที่สุดอยู่ในแปลงป่าทุติยภูมิ รองลงมาคือแปลงไร่หมุนเวียนอายุ 7 ปี และ 4 ปี ตามลำดับดังนี้ คือ 105.3, 38.3 และ 10.3 เมกกะกรัมต่อเฮกตาร์ และค่าการกักกับคาร์บอน คือ 47.7, 17.4 และ 4.6 เมกกะกรัมคาร์บอนต่อเฮกตาร์ นอกจากนี้ค่าปริมาณการสะสมคาร์บอนในพื้นที่ลุ่มน้ำบ้านเฮาะ อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ โดยใช้สมการที่มีอยู่เดิมซึ่งสร้างมาจากข้อมูลการสำรวจระยะไกล แสดงค่าคาร์บอนที่สูงกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับการคำนวณปริมาณคาร์บอนจากการใช้สมการที่พัฒนามาจากข้อมูลพืชจากภาคสนาม ภาพรวมจากการศึกษาในครั้งนี้สามารถช่วยเพิ่มความเข้าใจเกี่ยวกับการเก็บกักคาร์บอนในป่าทุติยภูมิและพื้นที่ไร่หมุนเวียน ซึ่งสามารถนำข้อมูลไปใช้เกิดประโยชน์กับการจัดเตรียมข้อมูลการสะสมคาร์บอนระดับชาติเพื่อเตรียมความพร้อมต่อกลไกเรดด์พลัสและการซื้อในตลาดคาร์บอนต่าง ๆ ได้