งานวิจัยด้านการฟื้นฟูป่าในพื้นที่อนุรักษ์ภาคเหนือของประเทศไทย
Blakesley, D., J. A. McGregor and S. Elliott, 2000. Forest restoration research in conservation areas in northern Thailand. Pp 262-275, chapter 12 in: Warhurst, A. (Ed.) Towards a Collaborative Environmental Research Agenda: Challenges for Business and Society. Macmillan Press Ltd., London, 300 pp.
การสูญเสียพื้นที่ป่าและและความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นปัญหาที่ร้ายแรงสำหรับหลายประเทศในป่าเขตร้อน ตัวอย่างเช่นในประเทศไทย พื้นที่ป่าลดลงจากประมาณ 53% ในช่วงต้นทศวรรษ 1960 (Bhumibamon, 1986) เหลือประมาณ 22.8% หรือ 111,010 ตร.กม. (FAO 1997) จนกระทั่งเมื่อไม่นานมานี้ การพัฒนาด้านเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วของประเทศและการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจเข้ากับเศรษฐกิจโลกเป็นสาเหตุสำคัญของการตัดไม้ทำลายป่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงปลายทศวรรษ 1970 และต้นทศวรรษ 1980 การทำลายพื้นที่ป่าส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการตัดไม้และการขยายพื้นที่ทางการเกษตร ส่งผลให้ปัจจุบันนี้ ป่าทุติยภูมิและที่ดินรกร้างว่างเปล่ากินพื้นที่เป็นบริเวณกว้าง ถึงแม้ว่าประเทศไทยจะมีระบบอุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าที่ครอบคลุมบริเวณพื้นที่ประมาณ 13% ของพื้นที่ทั้งหมด แต่ก็ยังคงมีพื้นที่เสื่อมโทรมขนาดใหญ่อยู่ภายในพื้นที่คุ้มครองเหล่านั้นด้วย เพื่อเป็นการแก้ไขสถานการณ์การทำลายป่าที่มีอย่างต่อเนื่อง การเปลี่ยนพื้นที่เสื่อมโทรมให้กลับมาเป็นพื้นที่ป่าจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อที่จะปกป้องพื้นที่ต้นน้ำและรักษาไว้ซึ่งความหลากหลายทางชีวภาพ การฟื้นฟูระบบนิเวศป่าไม้ในวงกว้าง จะต้องเกิดจากความร่วมมือระหว่างหน่วยงานของรัฐและประชาชนในท้องถิ่น การพัฒนาเทคนิคและวิธีการแบบใหม่เพื่อการผลิตกล้าไม้และการปลูกป่า รวมทั้งการจัดหาทรัพยากรและความเชี่ยวชาญสำหรับผู้ที่อยู่ในองค์กรนั้น ๆ ป่าชุมชนทำให้คนในชุมชนสามารถจัดการควบคุมทรัพยากรป่าไม้ในท้องถิ่นได้มากขึ้น แต่แผนงานดังกล่าวต้องใช้กลยุทธ์ในการฟื้นฟูทางเทคนิคที่ดีด้วย ในกรณีที่คนในชุมชนต้องการใช้ประโยชน์จากผลิตภัณฑ์จากป่าไม้ที่หลากหลายและบริการด้านนิเวศวิทยา ในปี พ.ศ. 2536 ได้มีการริเริ่มโครงการปลูกป่าครั้งใหญ่ในประเทศไทย เพื่อเฉลิมฉลองวาระโอกาสทองของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชบรมนาถบพิตร โดยมีเป้าหมายระยะยาวของโครงการ คือการปลูกไม้ท้องถิ่นบนพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมขนาด 8,000 ตร.กม. ซึ่งเป็นแนวทางที่แตกต่างจากโครงการปลูกป่าครั้งก่อน ๆ ในประเทศไทยที่ใช้พืชเชิงเดี่ยวอย่างต้นสนหรือยูคาลิปตัสในการปลูกป่า ในขณะที่โครงการกาญจนาภิเษกมีการฟื้นฟูป่าโดยใช้พรรณไม้ท้องถิ่นที่หลากหลายสายพันธุ์ มีหลาย ๆ องค์กรที่ดำเนินกิจกรรมการปลูกต้นไม้ รวมไปถึงหมู่บ้าน โรงเรียน มูลนิธิด้านการกุศล กลุ่มศาสนา องค์กรพัฒนาเอกชนอื่นๆ และองค์กรขนาดใหญ่ เช่น บริษัทน้ำมันและไฟฟ้าของรัฐ โครงการดำเนินต่อไปจนถึงปี พ.ศ. 2545 แนวการปฏิบัติในเรือนเพาะชำเพื่อการผลิตกล้าไม้ในประเทศไทยมีความก้าวหน้าอย่างมาก แต่เทคนิควิธีการต่าง ๆ มุ่งเน้นไปที่ชนิดพันธุ์กล้าไม้ในเชิงพาณิชย์เกือบทั้งหมด ความรู้เกี่ยวกับสภาพที่อยู่และวิธีการขยายพันธุ์และวิธีการปลูกต้นไม้ท้องถิ่นของประเทศไทย ซึ่งมีอยู่ประมาณ 3,600 สายพันธุ์จึงหาได้ยาก ด้วยความตระหนักถึงความจำเป็นในการริเริ่มการวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคนิคของการฟื้นฟูป่าไม้ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่และกรมป่าไม้ได้ร่วมกันก่อตั้งหน่วยวิจัยการฟื้นฟูป่า (FORRU) ในปี 2537 โดยความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยบาธและพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติ ลอนดอน มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาเครื่องมือในการศึกษาการฟื้นฟูระบบนิเวศป่าธรรมชาติ; เพื่อหาวิธีการเร่งกระบวนการการส่งเสริมการฟื้นตัวของระบบนิเวศเหล่านั้น เพื่อพัฒนาวิธีการผลิตกล้าไม้ที่เหมาะสมสำหรับต้นไม้แต่ละชนิดสำหรับการทดลองปลูก และเพื่อให้ข้อมูลแก่องค์กรและบุคคลที่เกี่ยวข้องกับโครงการปลูกป่า เพื่อให้บรรลุตามวัตถุประสงค์เหล่านี้ FORRU กำลังสร้างความสัมพันธ์กับชาวบ้านในท้องถิ่นและองค์กรการศึกษาเพื่อให้แน่ใจว่าทรัพยากรทางวิทยาศาสตร์มีให้สำหรับผู้ที่ดำเนินโครงการปลูกต้นไม้ ความสัมพันธ์ดังกล่าวช่วยให้แน่ใจว่ามีการวิจัยที่เหมาะสมและงานนั้นได้ถูกนำไปใช้เป็นสื่อการเรียนรู้ที่เหมาะสมด้วย ผลสำเร็จของโครงการนี้คือการนำวิธีการปฏิบัติในเรือนเพาะชำที่มีประสิทธิภาพและเหมาะสมมาประยุกต์ใช้ และการเพาะปลูกต้นไม้ท้องถิ่นหลากหลายชนิดโดยองค์กรอื่น ๆ ที่ดำเนินโครงการปลูกป่า