การใช้ความหลากชนิดและองค์ประกอบของชุมชีพของนกเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จในการฟื้นฟูป่า
Toktang, T., S. Elliott & G. Gale, 2007. Using avian species richness and avian community composition as indicators of successful forest restoration. Abstract of a presentation to the 2nd International Field Ecology Symposium: Biodiversity Management, at King Mongkut University of Technology Thonburi, 25-28th January 2007.
บทคัดย่อ: งานวิจัยนี้ศึกษาผลของการฟื้นฟูป่าต่อความหลากชนิดและองค์ประกอบทางด้านชุมชีพของนกในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทย โดยได้ดำเนินการสำรวจนกในพื้นที่ที่มีการฟื้นฟูโดยการปลูกพรรณไม้โครงสร้างจากหน่วยวิจัยการฟื้นฟูป่า ในพื้นที่หมู่บ้านแม่สาใหม่ ซึ่งตั้งอยู่ในอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย การสำรวจดำเนินการตั้งแต่เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2545 ถึงเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2546 มีการนับจำนวนนกตามจุด แล้วใช้วิธีการของ Mackinnon list เพื่อตรวจสอบความหลากชนิด ความหลากหลาย ความชุกชุม และความหนาแน่นของนกในแปลงควบคุมที่ไม่ได้ปลูกและแปลงที่มีการฟื้นฟูอายุต่างกัน ที่ได้ทำการปลูกในปี พ.ศ. 2541 พ.ศ. 2543 และ พ.ศ. 2545
ผลการสำรวจพบนก 88 ชนิดจาก 57 สกุลและ 30 วงศ์ ประกอบด้วยนกประจำถิ่น 69 ชนิดและนกอพยพ 19 ชนิด พบนกจำนวน 36 ชนิดในแปลงควบคุมที่ไม่ได้ปลูกต้นไม้ และ 68 ชนิดในแปลงฟื้นฟู โดยที่แปลงฟื้นฟูที่เพิ่งปลูกพบจำนวน 43 ชนิด ในแปลงอายุ 2 ปี จำนวน 45 ชนิด และในแปลงอายุ 4 ปี จำนวน 47 ชนิด นกที่มีความเด่นมากที่สุดในแปลงฟื้นฟู ได้แก่ นกในกลุ่มปรอด เช่น นกปรอดหัวโขน นกปรอดหัวสีเขม่า และปรอดหัวตาขาว ในขณะที่นกที่เด่นในแปลงควบคุม ได้แก่ นกกินแมลงกระหม่อมแดง นกปรอดหัวโขน และนกกระจิบหญ้าอกเทา Mackinnon list ยังระบุความหลากชนิดของนกสูงสุดในแปลงปลูกอายุ 2 ปี รองลงมา คือแปลงควบคุม ตามด้วยแปลงที่เพิ่งปลูก และแปลงฟื้นฟูกอายุ 4 ปีตามลำดับ อย่างไรก็ตามการนับจำนวนนกชี้ให้เห็นว่าแปลงฟื้นฟูมีความหลากชนิดและความหลากหลายของนกสูงกว่าแปลงควบคุม นอกจากนี้ การคำนวนดัชนีความคล้ายคลึงกันบ่งชี้ว่าแปลงฟื้นฟูที่เก่าแก่ที่สุดมีความคล้ายคลึงกับแปลงฟื้นฟูอายุกลางมากที่สุด และแตกต่างจากแปลงที่เพิ่งปลูกใหม่มากที่สุด แปลงควบคุมมีความหนาแน่นของนกซึ่งมักอาศัยในพื้นที่โล่งมากกว่าแปลงฟื้นฟู ในขณะที่นกป่ามีความหนาแน่นสูงกว่าในแปลงฟื้นฟู
การศึกษานี้แสดงให้เห็นว่าการฟื้นฟูโดยการใช้พรรณไม้โครงสร้างช่วยเพิ่มความหลากชนิดของนก และดึงดูดนกหลายชนิดซึ่งสามารถกระจายเมล็ดเข้าไปยังพื้นที่ฟื้นฟูและช่วยเร่งการฟื้นตัวของป่า นอกจากนี้ การปลูกต้นไม้ยังดึงดูดให้นกป่าเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อแปลงฟื้นฟูมีการเติบโตเต็มที่