การปลูกป่าและการดูแลกล้าไม้หลังปลูก

การปลูกป่าและการดูแลกล้าไม้หลังปลูก

Language:

เตรียมปลูก

ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการปลูกป่า -  ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการปลูกต้นไม้ขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำในดิน ณ ช่วงเวลานั้น ในพื้นที่ที่มีฤดูกาลชัดเจน ช่วงเวลาที่เหมาะสมสำหรับการปลูกต้นไม้มากที่สุด คือ ต้นฤดูฝน เมื่อฝนตกอย่างสม่ำเสมอและเพียงพอ การปลูกต้นไม้ในช่วงฤดูฝนเปิดโอกาสให้กล้าไม้มีเวลาในการพัฒนาระบบรากที่ลึกพอสำหรับนำน้ำมาใช้ในช่วงฤดูแล้งแรกหลังปลูก และไม่แห้งตายเมื่อฤดูแล้งมาถึง ในภาคเหนือของประเทศไทยช่วงเวลาที่เหมาะสมสำหรับการปลูก คือ กลางเดือนมิถุนายนจนถึงกลางเดือนกรกฎาคม

การเตรียมพื้นที่ปลูก – สำหรับต้นไม้ ลูกไม้ กล้าไม้ และตอไม้ที่ยังไม่ตาย สิ่งแรกที่ต้องทำ คือ ป้องกันไม่ให้ไม้เหล่านั้นเสียหายจากกิจกรรมปลูกป่า โดยสำรวจและทำเครื่องหมายต้นไม้ทั้งหมดในพื้นที่ โดยใช้ไม้ไผ่ทาสีสด ๆ ปักข้าง ๆ ต้นไม้ที่พบอย่ามองข้ามต้นกล้าขนาดเล็ก ๆ ที่อาจถูกวัชพืชขึ้นคลุมอยู่ถางวัชพืชรอบๆ โคนต้นออกเป็นวงกว้างประมาณ 1.5 เมตร วิธีการนี้จะช่วยให้เห็นต้นกล้าได้ง่ายขึ้นและลดความเสี่ยงที่ต้นกล้าเหล่านั้นจะถูกทำลายในช่วงกำจัดวัชพืช หรือการปลูกป่า และยังเป็นการลดการแข่งขันกับวัชพืช ทำให้ต้นกล้าเจริญเติบโตได้ดีเท่าๆ กับกล้าไม้ที่นำไปปลูก วัชพืชในพื้นที่ต้องถูกกำจัดก่อนการปลูกป่า ถ้าวิธีกำจัดที่เลือกต้องใช้เวลา เช่น การใช้ยาฆ่าหญ้าพวกไกลโฟเสต อาจต้องเริ่มเตรียมพื้นที่ประมาณ 6 สัปดาห์ก่อนปลูก ในภาคเหนือของไทยควรเริ่มต้นเดือนพฤษภาคม แต่ถ้ากำจัดวัชพืชโดยใช้เครื่องมืออื่น ๆ อาจเตรียมพื้นที่ประมาณ 1-2 สัปดาห์ ก่อนการปลูก

จำนวนต้นกล้าที่ต้องนำไปที่แปลง – หลังปลูกป่า จำนวนกล้าไม้ทั้งที่เป็นต้นปลูกและกล้าธรรมชาติในแต่ละไร่ควรมีประมาณ 500 ต้นต่อไร่ หรือ 3100 ต้นต่อเฮกตาร์ ดังนั้น จำนวนกล้าไม้ที่ต้องใช้ต่อไร่จะเท่ากับ 500 ลบด้วยจำนวนกล้าไม้ธรรมชาติหรือตอไม้เดิมที่มีชีวิตในพื้นที่ จำนวนกล้าไม้ที่ใช้นี้จะใช้ระยะห่างระหว่างกล้าไม้ทั้งที่ปลูกใหม่และต้นไม้เดิมประมาณ 1.8 เมตร โดยวัตถุประสงค์หลักของการปลูกให้หนาแน่นมากขึ้นนี้ก็เพื่อให้เรือนยอดของต้นไม้ปกคลุมพื้นที่ให้เร็วที่สุดร่มเงาของต้นไม้ที่โตขึ้นเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพที่สุดในการควบคุมวัชพืชในพื้นที่และลดค่าใช้จ่ายในการกำจัดหญ้า

ต้องปลูกต้นไม้กี่ชนิด? – สำหรับแปลงที่จัดอยู่ในความเสื่อมโทรมของพื้นที่ระดับที่ 3 ต้องมีการสำรวจจำนวนชนิดต้นไม้ธรรมชาติที่สามารถเป็นแหล่งเมล็ดพันธุ์หรือต้นไม้ในรุ่นต่อไปได้ โดยที่จำนวนชนิดของพรรณไม้โครงสร้างที่ปลูกควรอยู่ระหว่าง 20-30 ชนิดหรือประมาณ 10% ของจำนวนชนิดในป่าอ้างอิง (ถ้าทราบ) สำหรับแปลงที่จัดอยู่ในความเสื่อมโทรมของพื้นที่ระดับที่ 4 ให้ปลูกต้นไม้ที่เจอในป่าอ้างอิงมากที่สุดเท่าที่จะมากได้

A truck transporting saplings a bit too fastอย่าทำลายผลงานที่มาจากการทำงานตลอดทั้งปีในเรือนเพาะชำระหว่างการขนย้ายกล้าไม้ไปยังพื้นที่ปลูกในการขนย้ายควรทำอย่างระมัดระวัง บรรทุกกล้าไม้ขึ้นรถ คลุมด้วยตาข่ายเพื่อไม่ให้ถูกแดดหรือลมมากเกินไป อย่าวางต้นกล้าซ้อนทับกัน

การลำเลียงกล้าไม้ไปยังแปลงปลูก - กล้าไม้มีความเสี่ยงที่จะเสียหายได้สูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อโดนลมและแสงแดด จึงควรคัดเลือกกล้าไม้ที่แข็งแรงที่สุดจากเรือนเพาะชำหลังจากคัดขนาดและทำให้แกร่งแล้ว ทำเครื่องหมายกล้าไม้ที่จะติดตามการเจริญเติบโต จากนั้น เรียงกล้าไม้ลงในตะกร้าที่แข็งแรงเพื่อขนย้ายไปยังแปลงปลูกก่อนปลูก 1 วัน

Tree planting equipment and materialsTree planting equipment and materials

เครื่องมือพื้นฐานสำหรับการปลูกต้นไม้ - นำของที่จำเป็นสำหรับการปลูก ไปยังพื้นที่ในวันก่อนปลูก อุปกรณ์ประกอบด้วยหลักไม้ไผ่ กระดาษแข็งสำหรับคลุมโคนต้นกล้าไม้แต่ละต้น ปุ๋ย 1/2 กระสอบ (ประมาณ 25 กิโลกรัม) ต่อไร่ คลุมของที่เตรียมไว้ด้วยผ้าใบกันฝน

1. มีด
2. ถุงมือ
3. ปุ๋ย ถัง และถ้วยสำหรับตวงปุ๋ย
4. ตะกร้าสำหรับการขนย้ายกล้าไม้
5. จอบขุด
6. กระดาษแข็งสำหรับคลุมโคนต้น
7. ชุดปฐมพยาบาล
8. หลักไม้ไผ่

​​วันปลูกป่า​

ระยะห่างระหว่างต้น

ขั้นแรกของการปลูกต้นไม้ คือ ทำเครื่องหมายตำแหน่งที่จะปลูกต้นไม้แต่ละต้น โดยใช้หลักที่มีความสูงประมาณ 1 เมตร วางหลักให้มีระยะห่างประมาณ 1.8 เมตร และใช้ระยะเดียวกันจากไม้เดิมที่มีอยู่ในพื้นที่ พยายามอย่าวางหลักเป็นแนวเส้นตรง การปักหลักแบบไม่เป็นแถวทำให้ป่าที่ฟื้นฟูมีลักษณะใกล้เคียงธรรมชาติมากกว่า การกำหนดจุดปลูกนี้สามารถทำได้ทั้งในวันปลูกหรือก่อนปลูก 2-3 วัน

An illustration of a man planting trees using stakes for spacingAn illustration of a man planting trees using stakes for spacing.

วิธีการปลูกกล้าไม้

  1. ใช้ตะกร้าขนกล้าไม้ไปวางตามหลักไม้ไผ่แต่ละหลักในแต่ละตะกร้าควรมีกล้าไม้หลาย ๆ ชนิดผสมกันเพื่อไม่ให้กล้าไม้ชนิดเดียวกันปลูกอยู่ติดกัน
  2. ใช้จอบขุดหลุมประมาณ 2 เท่าของภาชนะปลูกข้าง ๆ หลักไม้ไผ่แต่ละหลัก ถางหญ้ารอบ ๆ ปากหลุมออกไปประมาณ 50 เซนติเมตร
  3. ถ้ากล้าไม้อยู่ในถุงพลาสติกให้ใช้มีดพับกรีดถุงด้านข้างให้เปิดออก ระวังอย่าให้ถูกรากข้างใน แกะถุงออก พยายามอย่าให้วัสดุปลูกหลุดออกจากราก
  4. วางกล้าไม้ลงในหลุมตั้งต้นกล้าให้ตรง กลบดินให้ถึงระดับคอรากของกล้าไม้ ถ้ากล้าไม้ติดเครื่องหมายสำหรับติดตามการเจริญเติบโตระวังอย่าให้ป้ายถูกกลบไปด้วย ใช้ฝ่ามือกดดินรอบ ๆ โคนต้นกล้าให้แน่น เพื่อลดช่องว่างระหว่างวัสดุปลูกกับดินในแปลง เพื่อให้รากกล้าไม้รับน้ำและออกซิเจนจากดินรอบ ๆ ได้เร็วขึ้น
  5. ใส่ปุ๋ยเป็นวงรอบ ๆ โคนต้น โดยให้ห่างจากต้นกล้าประมาณ 20 เซนติเมตร ระวังอย่าให้ปุ๋ยถูกกล้าไม้โดยตรง เพราะอาจเกิดอาการไหม้ ใช้ปุ๋ย 50-100 กรัม (1/2-1 ขีด) ต่อกล้าไม้ 1 ต้น โดยใช้ถ้วยพลาสติกที่วัดปริมาตรไว้ล่วงหน้าตวงปุ๋ยใส่กล้าไม้แต่ละต้น
  6. คลุมโคนต้นกล้าแต่ละต้นด้วยกระดาษแข็ง เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 40 เซนติเมตร ตรึงกระดาษกล่องไว้ด้วยหลักไม้ไผ่ ใช้เศษวัชพืชที่ตัดแล้วคลุมบนกระดาษอีกชั้นหนึ่ง
  7. สิ่งสุดท้ายที่ต้องทำก่อนออกจากแปลงปลูกป่า คือ การเก็บถุงพลาสติก หลักไม้ที่เหลือ กระดาษกล่องและขยะอื่น ๆ ออกจากพื้นที่

Field workers planting trees using stakes for spacingField staff planting trees using stakes for spacing.

การดูแลกล้าไม้หลังปลูก

ในพื้นที่ป่าถูกทำลาย กล้าไม้ต้องผจญกับสภาพแวดล้อมที่ร้อนแห้งแล้งภายใต้แสงแดดจัด และการแข่งขันกับวัชพืชที่เจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว นอกจากนั้นในฤดูแล้งกล้าไม้ยังเสี่ยงกับการถูกไฟเข้าทำลายหรืออาจเสี่ยงต่อการถูกวัว ควายในพื้นที่กัดกิน การดูแลกล้าไม้ในแปลงปลูกอย่างใกล้ชิดในระยะ 18-24 เดือนแรกหลังปลูกจึงมีความสำคัญมากในการช่วยให้กล้าไม้อยู่รอดได้ หลังจากนั้นไม่จำเป็นต้องมีการดูแลหลังปลูกเมื่อต้นไม้เจริญเติบโตและเรือนยอดของต้นไม้ชิดติดกันพอดี

การกำจัดวัชพืช

  • การใช้มือหรือจอบกำจัดวัชพืชที่ขึ้นรอบ ๆ โคนต้นกล้า โดยเว้นระยะเป็นวงกลมรัศมี 50 เซนติเมตร  รอบฐานของต้นกล้าและกล้าไม้ธรรมชาติทั้งหมดจากโคนต้น
  • การขจัดวัชพืชโดยใช้แผ่นไม้ (ขนาด 130 × 15 เซนติเมตร) กดทับวัชพืชที่ขึ้นอยู่ระหว่างกล้าไม้ให้ล่มลงจนราบเรียบ เพื่อให้วัชพืชจำกัดร่มเงาของวัชพืชเอง

การกดทับวัชพืชเหมาะกับบริเวณที่มีวัชพืชสูงประมาณ 1 เมตรหรือสูงกว่านั้น วัชพืชที่เตี้ยลงกว่านั้นมีโอกาสที่จะฟื้นตัวคืนมาได้ใหม่หลังจากที่กดลงไม่นาน โดยช่วงเวลาที่ดีที่สุดในการกดทับหญ้ามักจะประมาณสองเดือนหลังจากที่ฝนเริ่มตก ซึ่งเป็นช่วงที่ก้านหญ้าพับได้ง่าย

Field staff weeding a tree-planted plotField staff weeding a tree-planted plot.

การใส่ปุ๋ย

การให้ปุ๋ยแก่กล้าไม้ในสองฤดูฝนแรกหลังการปลูกจะทำให้มีการเจริญเติบโตดีขึ้นทั้งในดินเลวและในดินที่สมบูรณ์อยู่แล้ว ปุ๋ยทำให้กล้าไม้สามารถเจริญเติบโตพ้นระดับของวัชพืชได้เร็วขึ้น และบังแสงทำให้วัชพืชตายไปในที่สุดซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการกำจัดวัชพืชลงได้

Field staff fertilizing a tree-planted plot.Field staff fertilizing a tree-planted plot.

การใส่ปุ๋ยประมาณ 50 -100 กรัมต่อต้นทุก ๆ 4-6 สัปดาห์ พร้อม ๆ กับการตัดหญ้าโดยโรยปุ๋ยเป็นวงรอบ ๆ ต้นกล้าห่างจากโคนต้นประมาณ 20 เซนติเมตร หรือถ้าใช้กระดาษกล่องคลุมโคนต้นอยู่ให้ใส่ปุ๋ยรอบ ๆ แผ่นกระดาษ ปุ๋ยเคมีสูตร 15:15:15 ใช้ได้ผลดีในพื้นที่สูง แต่สำหรับพื้นที่ต่ำ ๆ ที่เป็นดินลูกรังปุ๋ยอินทรีย์ จะให้ได้ผลดีกว่า อย่าใส่ปุ๋ยใกล้โคนต้นเกินไป เพราะอาจทำให้ต้นกล้าเสียหายหรือตายได้ก่อนใส่ปุ๋ยควรตัดหญ้าก่อนเพื่อให้แน่ใจว่าต้นกล้าจะได้ใช้ประโยชน์จากปุ๋ยเต็มที่ ไม่ใช่วัชพืชที่อยู่โดยรอบ