การปลูกต้นไม้ในทุกโครงการควรที่จะได้รับการติดตาม แต่ก็มีหลากหลายวิธีการที่แตกต่างสำหรับการติดตาม ไล่เรียงจากการติดตามอย่างง่ายด้วยภาพถ่ายและการประเมินอัตราการรอด สำหรับรูปแบบการทดลองในภาคสนามที่มีความซับซ้อน ถูกออกแบบมาเพื่อตรวจสอบประสิทธิภาพการเจริญเติบโตของต้นไม้แต่ละชนิด ถึงผลกระทบที่เกี่ยวข้องกับการปลูกและการฟื้นตัวของความหลากหลายทางชีวภาพ ส่วนแนวโน้มการติดตามในปัจจุบันที่กำลังแพร่หลาย คือ การฟื้นฟูป่าอัตโนมัติ
การติดตามอย่างง่ายด้วยการใช้ภาพถ่าย
วิธีการที่ง่ายที่สุดในการประเมินผลของการปลูกต้นไม้ คือ การถ่ายภาพก่อนปลูกและช่วงเวลาปกติ (ฤดูกาลละครั้ง หรือทุกปี) โดยหาจุดที่มองเห็นได้ชัดเจนทั้งพื้นที่ปลูกและจุดสำคัญต่างๆ ทำเครื่องหมายตำแหน่งของจุดที่ต้องการด้วยเสาโลหะ คอนกรีต หรือทำลูกศรสีบนก้อนหินขนาดใหญ่ แล้วบันทึกวันที่ หมายเลขจุด ตำแหน่งที่ตั้ง (พิกัด จีพีเอส ถ้ามี) และอายุของแปลงปลูก ใช้เข็มทิศในการหาทิศทางไปยังจุดที่กล้องจำเป็นต้องถ่ายภาพ
การสุ่มตัวอย่างต้นไม้สำหรับการติดตาม
ความต้องการขั้นต่ำสุดเพื่อการติดตามที่เหมาะสม คือ การสุ่มตัวอย่าง 50 ตัวอย่าง หรือมากกว่าของต้นไม้แต่ละชนิดที่ปลูก ยิ่งตัวอย่างมีจำนวนมากเท่าไหร่ก็ยิ่งส่งผลลัพธ์ที่ดีกว่า ต้นไม้ที่สุ่มจะถูกจัดรวมเป็นกลุ่มของการทดลอง และถูกติดป้ายแท็กเครื่องหมายเป็นกลุ่มตัวอย่างภายในเรือนเพาะชำให้เรียบร้อยก่อนถูกขนส่งไปยังพื้นที่แปลงปลูก การปลูกก็จะเป็นแบบสุ่มทั่วทั้งพื้นที่ แต่ขณะเดียวกันก็ต้องให้แน่ใจว่าจะสามารถหาต้นไม้ตัวอย่างการทดลองเจออีกครั้ง ด้วยการปักไม้หลักสีให้แต่ละต้นที่ต้องได้รับการติดตาม ทำการคัดลอกหมายเลขประจำตัวจากป้ายแท็กของต้นไม้ลงบนไม้หลักด้วยปากกากันน้ำ และวาดแผนผังต้นไม้สำหรับช่วยในการหาตำแหน่งต้นไม้ตัวอย่างในอนาคต
การติดป้ายแท็กเครื่องหมายกล้าไม้ที่ถูกปลูก
แถบอะลูมิเนียมอ่อนที่ใช้รัดสายไฟซึ่งง่ายต่อการทำเป็นขดวงกลมล้อมรอบโคนต้นกล้า ใช้แท่งตอกตัวเลขโลหะหรือตะปูที่มีความคมสลักรหัสหมายเลขประจำตัวต้นไม้แต่ละต้นแต่ละชนิดลงบนป้ายแท็ก หลังจากนั้นดัดโค้งแท็กเป็นวงกลมรอบโคนต้นเหนือกิ่งที่อยู่ต่ำที่สุด เพื่อป้องกันแท็กถูกฝังเมื่อทำการปลูกต้นไม้ สำหรับป้ายแท็กเครื่องหมายนี้มีคุณสมบัติทนทานต่อไฟ ภายหลังหากต้นไม้เจริญเติบโตจนมีขนาดเส้นรอบวง 10 เซนติเมตร หรือมากกว่า (วัดที่ระดับ 1.3 เมตร เหนือพื้นดิน หรือเป็นเส้นรอบวงที่ระดับความสูงประมาณหน้าอก) ป้ายแท็กเครื่องหมายที่คงทนถาวรมากกว่าจะถูกตอกด้วยตะปูติดกับลำต้นแทน (แท็กถาวรอาจทำมาจากกระป๋องเครื่องดื่มที่ถูกตัดแบ่งเป็นชิ้นบาง เล็กๆ) การทำเครื่องหมายจุดวัดเส้นรอบวงจะอยู่ที่ระดับประมาณ 1.3 เมตร
การติดป้ายแท็กเครื่องหมายกล้าไม้ที่ถูกปลูก
ในการตรวจสอบประสิทธิภาพ ติดตามการเจริญเติบโตของต้นไม้ ให้ทำงานเป็นคู่กัน โดยให้หนึ่งคนเป็นคนวัดข้อมูลต้นไม้ และอีกคนบันทึกข้อมูลลงบนตารางบันทึกที่ถูกเตรียมไว้แล้ว ซึ่งปกติหนึ่งคู่สามารถทำการวัดเก็บข้อมูลต้นไม้ได้มากกว่า 400 ต้นต่อหนึ่งวัน สำหรับการเตรียมตารางบันทึกข้อมูลนี้ยังรวมไปถึงการจัดลำดับรายละเอียดของรหัสหมายเลขประจำตัวของแท็กต้นไม้ทั้งหมดที่จะเก็บข้อมูลไว้ล่วงหน้าด้วยเหมือนกัน และให้แนบรายละเอียดประกอบไปพร้อมกับแผนที่ตำแหน่งต้นไม้ที่ติดแท็กไว้ ตั้งแต่ตอนปลูกเพื่อช่วยในการค้นหาต้นไม้ตัวอย่าง นอกจากนี้ ยังควรทำสำเนาข้อมูลที่รวบรวมระหว่างการติดตามครั้งก่อนรวมไปด้วย วิธีนี้จะช่วยคัดกรองการระบุต้นไม้ที่มีปัญหาได้ โดยเฉพาะต้นไม้ที่แท็กอาจสูญหาย
ช่วงเวลาสำหรับการติดตาม
การวัดต้นไม้ 1-2 สัปดาห์หลังปลูก เพื่อให้ได้ข้อมูลพื้นฐานในการคำนวณการเจริญเติบโตและประเมินการตายที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้น ที่อาจเป็นผลมาจากภาวะช็อกเนื่องด้วยกระบวนการขนส่งและการจัดการที่ไม่ละเอียดระหว่างกระบวนการปลูก หลังจากนั้น การติดตามต้นไม้รายปีในช่วงฤดูกาล โดยงานการติดตามควรทำหลังสิ้นสุดแต่ละฤดูฝน เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดของการติดตามผล อย่างไรก็ตาม หากเป็นฤดูฝนที่ 2 หลังจากการปลูก (หรือช่วงระยะเวลาหลังปลูกประมาณ 18 เดือน) เป็นช่วงเวลาที่ข้อมูลการติดตามการเจริญเติบโตของต้นไม้ สามารถใช้วัดความเหมาะสมของต้นไม้แต่ละชนิดกับสภาพพื้นที่ได้
ควรทำการวัดอะไรบ้าง?
กำหนดคะแนนสุขภาพอย่างง่ายให้ต้นไม้แต่ละต้นและบันทึกรายละเอียดเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพทั่วไปที่สังเกตเห็น ค่าระดับคะแนนพื้นฐานอยู่ระหว่าง 0-3 คะแนน เป็นค่าที่ใช้กันทั่วไปเหมาะสำหรับการบันทึกข้อมูลสุขภาพต้นไม้ในภาพรวม
0 คะแนน ถ้าต้นไม้ดูเหมือนว่าจะตาย ส่วนชนิดต้นไม้ที่ผลัดใบ ต้องระมัดระวังความสับสนระหว่างไม่มีใบในช่วงฤดูแล้งกับต้นที่ตาย อย่าเพิ่งหยุดการติดตามเพียงเพราะต้นไม้ได้ 0 คะแนน บางครั้งต้นไม้อาจตายในส่วนที่โผล่พ้นเหนือพื้นดิน แต่รากยังคงมีชีวิต ซึ่งอาจจะสามารถแตกหน่อใหม่ได้ในภายหลัง
1 คะแนน ถ้าต้นไม้อยู่ในสภาพไม่ค่อยดี (มีใบเพียงไม่กี่ใบ ใบส่วนใหญ่ไม่มีสี อาจถูกทำให้เสียหายโดยแมลง และอื่นๆ)
2 คะแนน สำหรับต้นไม้ที่ปรากฏลักษณะถูกทำลายบางจุด แต่ยังคงมีใบที่ดูสุขภาพดี
3 คะแนน สำหรับต้นไม้ที่มีลักษณะสุขภาพสมบูรณ์แบบ หรือใกล้เคียงกับความสมบูรณ์แบบมากที่สุด
ถ้าไม่สามารถหาต้นไม้เจอให้บันทึกเป็นไม่พบ (อย่าตั้งสมมุติฐานว่าตายหากไม่พบซากของต้นไม้) บางครั้งเราอาจจะพบว่าต้นไม้ยังคงรอดและมีสภาพสมบูรณ์ในการสำรวจย่อยๆ ซึ่งในกรณีนี้เราสามารถคำนวณร้อยละการรอดที่ถูกต้องของการสำรวจครั้งก่อนได้
การติดตามการเจริญเติบโตของต้นไม้ยังรวมถึงการวัดความสูงและทรงพุ่ม
วัดความสูงจากคอรากของลำต้นถึงยอดอ่อนเจริญ ส่วนการวัดต้นไม้ที่มีความสูงตั้งแต่ 10 เมตรขึ้นไป สามารถใช้เสาวัดความสูง สำหรับการวัดอัตราการการเติบโตของเส้นรอบวงระดับอกทำได้ง่ายกว่ามาก
การวัดคอราก (RCD) หรือเส้นรอบวงระดับอก (GBH)ให้ค่าการประเมินที่มีความคงที่มากกว่าสำหรับการเจริญเติบโตของต้นไม้
สำหรับต้นไม้ขนาดเล็กจะใช้ เวอร์เนียร์คาร์ลิเปอร์ วัดคอรากในจุดที่มีความกว้างมากที่สุด หากต้นไม้เจริญเติบโตสูงมากพอที่จะพัฒนาเส้นรอบวงระดับอกขนาด 10 เซนติเมตร การวัดทั้งคอรากและเส้นรอบวงระดับอกจำเป็นสำหรับการวัดครั้งแรก และการวัดครั้งต่อไปจะวัดเฉพาะเส้นรอบวงระดับอก
การจำกัดการเจริญเติบโตของวัชพืชสามารถวัดปริมาณได้เช่นเดียวกัน การวัดทรงพุ่มและรูปแบบการให้คะแนนสำหรับวัชพืชปกคลุม จะใช้เทปวัดระยะวัดความกว้างของทรงพุ่มต้นไม้ ณ จุดที่กว้างที่สุดและประมาณการสร้างเป็นวงกลมที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางรอบฐานต้นไม้แต่ละต้น
3 คะแนน ถ้าวัชพืชปกคลุมอย่างหนาแน่นทั่วทั้งวงกลม
2 คะแนน วัชพืชและใบที่ปกคลุมอยู่ระดับปานกลางทั้งคู่
1 คะแนน มีวัชพืชเพียงเล็กน้อยเจริญเติบโตภายในวงกลม
0 คะแนน ไม่ปรากฏวัชพืชเลย
สำหรับรายละเอียด วิธีการติดตามการรอดของต้นไม้ การเจริญเติบโต และการวิเคราะห์ข้อมูลทำอย่างไร
สามารถดูได้จากบทที่ 7 และภาคผนวก 2 ของหนังสือ "Restoring Tropical Forests " รายละเอียดเนื้อหาเดียวกันฉบับบภาษาไทยสามารถดาวน์โหลด ที่นี่ .